สูตรเด็ด! “เพิ่มดีกรีสมาธิให้ลูกเรียนดี”

“ไม่ค่อยมีสมาธิทำการบ้านเลย ถึงเวลาทำการบ้านเปิดหนังสือ ตาก็ดู มือก็ถือดินสอ แต่ใจไม่อ่านไม่ทำ คิดเรื่องอื่นไปเสียแล้ว”
“เวลาอ่านหนังสือนั่งนิ่งๆ อยู่กับที่ไม่ได้”
“คุณครูบอกว่า อยู่โรงเรียนเล่นตลอดเวลา ไม่ตั้งใจเรียนเอาเลย”

และแบบนี้ใช่คุณหรือเปล่า
“กังวลว่าถ้าลูกยังไม่มีสมาธิในการเรียนอย่างนี้ ลูกจะเรียนดีได้อย่างไร แล้วเขาจะเรียนทันเพื่อนไหม ไปจนถึงสงสัยว่าลูกจะเป็นสมาธิสั้น”

ถ้าคุณตอบใช่ทั้งสองข้อ คุณและลูกไม่ได้ผิดปกติอะไรค่ะ ยังมีพ่อแม่อีกมากเป็นเหมือนคุณ แต่คุณจะต่างจากพ่อแม่คนอื่น หากคุณพยายามหาข้อมูลและทำความเข้าใจเรื่องสมาธิกับเด็กวัยซน คุณจะช่วยลูกให้มีสมาธิกับการเรียนได้ไม่ยาก มาต้อนรับเปิดเทอมให้ลูกพร้อมการเรียนด้วยการมีสมาธิกันดีกว่าค่ะ

พ่อแม่จะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้ลูกมีสมาธิในการเรียน
เราสามารถปลูกฝังการมีสมาธิได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก ผ่านการทำกิจกรรมที่เด็กชอบและถนัด เด็กๆ จะผูกพันกับกิจกรรมที่ตนเป็นคนคิดและออกแบบ คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตนะคะว่าลูกๆ ทำกิจกรรมอะไรแล้วสนุกและทำได้ต่อเนื่องค่อนข้างนาน ชวนลูกทำเล่นด้วยกันในครอบครัว เช่น เด็กบางคนสามารถถักไหมพรม หรือใช้ปากกาเมจิกจุดสีบนภาพได้เป็นเวลานานๆ ทั้งนี้ ผู้ปกครองสามารถลองปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ข้อนี้ เพื่อให้ลูกน้อยมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น
1. จัดมุมทำงานโดยเฉพาะ พื้นที่ในบ้านจะมากน้อยไม่สำคัญค่ะ ไม่ว่าจะบ้าน คอนโด ตึกแถว ฯลฯ จัดได้หมด มุมทำการบ้าน อ่านหนังสือของเด็ก ไม่ควรมีเสียงอึกทึก ไม่มีทีวี เกม หรือสิ่งที่ชวนให้เสียสมาธิอยู่ใกล้ๆ เพราะเด็กไวต่อสิ่งเร้ามาก

2. ทำตารางเวลาคนเก่ง ความสำคัญอยู่ที่คุณกับลูกทำตารางเวลานี้ด้วยกัน เพื่อกำหนดกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เมื่อได้ลงมือทำเอง เด็กๆ ก็มักจะจำได้ดีและเป็นสิ่งเตือนสติทำให้เกิดสมาธิตามมา มีข้อแม้คือตารางเวลานี้ควรยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์เลยนะคะ เพื่อให้ลูกพร้อมกับการทำกิจวัตร โดยไม่เคร่งเครียดจนเกินไป

3. ดนตรีสร้างสมาธิ ก่อนถึงเวลาทำการบ้าน แทนที่จะเปิดทีวี หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ อาจเปิดเพลงที่ฟังสบายๆ เช่น เพลงบรรเลง เพื่อช่วยให้จิตใจมีความสงบ ลดความสับสนวุ่นวาย เมื่อจิตใจสงบทำให้เกิดคลื่นสมองที่เรียกว่า คลื่นอัลฟา (Alpha Wave) ซึ่งเป็นภาวะที่มีสมาธิและเหมาะสมในการเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงาน และมีใจจดใจจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

4. ศิลปะสนุก กิจกรรมทางศิลปะช่วยทำให้เกิดสมาธิ และได้ทักษะการทำงานประสานกันระหว่างมือและสายตาด้วย เช่น การวาดภาพ โดยใช้สีไม้ สีน้ำ สีเทียน หรือ การปั้น ด้วยดินเหนียว แป้งโด หรือดินน้ำมัน หรือการพับกระดาษ เพื่อให้ลูกได้ใช้ศิลปะในการฝึกสมาธิ อาจชักชวนลูกให้ใส่กิจกรรมศิลปะเข้าไปในตารางเวลาของเขาด้วยก็ได้

5. อ่านนิทานก่อนนอน เด็กๆ จะฟังเรื่องต่างๆ ให้เข้าใจได้ต้องมีใจจดจ่อกับเรื่องที่ได้ยิน การเล่านิทานก่อนนอนให้ลูกฟังจะช่วยสร้างสมาธิและทักษะการฟังที่ดีให้ลูกได้ นอกจากนี้คุณอาจตั้งคำถามเป็นระยะให้ลูกตอบฝึกทักษะการคิดได้อีก และสำคัญที่สุดทุกคนยังได้ของแถมที่มีค่ายิ่ง คือ ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย

นอกจากมีสมาธิแล้ว มีอะไรอีกบ้างที่ทำให้เด็กๆ เรียนดี
คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจว่า การมีสมาธิ สามารถตั้งใจฟัง อ่าน เขียน ทำกิจกรรมการเรียนต่างๆ นั้นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เด็กเรียนหนังสือได้ดี การเรียนหนังสือได้ดียังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นด้วย ได้แก่

1. ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการเล่น
คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจธรรมชาติของเด็กว่าต้องการเล่น การเล่นจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่นราคาแพงมาให้ลูกเล่น สามารถใช้ของรอบๆ ตัว รอบๆ บ้าน มาเป็นอุปกรณ์ในการเรียนรู้ได้ เช่น ฝึกทักษะการสังเกตแบบนักวิทยาศาสตร์โดยการสังเกต ใบไม้ ดอกไม้หลากหลายชนิดที่สวนหน้าบ้าน ให้เด็กบอกความเหมือน ความต่าง จัดหมวดหมู่ เท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของนักวิทยาศาสตร์น้อยแล้วคะ

2. มีต้นแบบของการเรียนรู้ในบ้าน
หากคุณแม่อยากให้ลูกอ่านหนังสือทบทวนหรือทำความเข้าใจบทเรียน แต่คุณแม่ดูแต่ละคร หรือคุณพ่ออยากให้ลูกรับผิดชอบทำการบ้านให้เสร็จอย่างมีคุณภาพ แต่ไม่เป็นแบบอย่างของความมีวินัย ความรับผิดชอบในการทำงาน ลูกก็ขาดตัวอย่างที่ดีที่จะให้เขาทำตามค่ะ
ดังนั้น ในบ้านควรมีพื้นที่ของครอบครัวที่เหมาะสมในการนั่งอ่าน หนังสือหาความรู้สบายๆ หรือคุณพ่อคุณแม่สามารถทำงานพร้อมกับลูกได้พร้อมกัน ลูกจะได้ซึมซับวิธีการทำงาน และวิธีการหาความรู้จากผู้ปกครองโดยไม่ต้องคอยบ่นจ้ำจี้จ้ำไช

3. การฝึกให้เป็นเด็กช่างคิด
ทักษะการคิดเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ทางวิชาการ ทุกวิชาต้องอาศัยการคิด เช่น การจะทำงานศิลปะ เด็กต้องมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี การจะแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์เด็กต้องวิเคราะห์เป็น คิดเป็นเหตุเป็นผล และแก้ปัญหาเป็น การส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดต้องเริ่มต้นที่บ้าน ไม่มอบหน้าที่ให้กับโรงเรียนแต่เพียงผู้เดียว

หลักง่ายๆ ในการส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดคือ กระตุ้นด้วยคำถาม เช่น เพราะอะไรถึง… มีวิธีทำอย่างไร … คิดว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร …..และที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ปกครองต้องเปิดกว้างรับฟังเด็กๆ โดยไม่ดุ หรือตำหนิความคิดของเด็ก เพราะการดุหรือตำหนิเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กกลายเป็นคนไม่กล้าคิด ไม่กล้านำเสนอความแตกต่างค่ะ
 
=====================================

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจาก

real-parenting.com

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์สมองดี HealthyBrain

สนับสนุนโดย อเลอไทด์  สารอาหารบำรุงสมอง 

เพิ่มสมาธิ เสริมสร้างความจำ และ ความสามารถในการเรียนรู้

ช่วยลดความเครียด ปรับอารมณ์ และ ทำให้ผลการเรียนให้ดีขึ้น

ปรึกษาปัญหาเด็กสมาธิสั้น เด็กแอลดี
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์
โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 393,575