นอกจากนี้ เด็กจะไม่สามารถบอกเวลา และ ความหมายของคำได้ เมื่อเด็กวัยประถมมีปัญหาเรื่องการอ่านเขียน เขาก็จะไม่สามารถเข้าใจบทเรียนในวิชาต่างๆ ได้ และ เมื่อเด็กเครียดและไม่มีใครเข้าใจ ก็มีแนวโน้มที่เขาจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา ดังนั้น ผู้ปกครองควรจะเอาใจใส่ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะสายเกินไป
แล้วควรจะทำอย่างไร เมื่อลูกอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ?
1. อย่าลงโทษจนกว่าจะรู้สาเหตุ
ผู้ปกครองควรสังเกตผลการเรียนของลูก และ คุยกับคุณครูเป็นระยะๆ อย่ารอจนโรงเรียนส่งจดหมายเชิญคุณพ่อคุณแม่ไปพบ คุยกับคุณครูเรื่องพัฒนาการของลูก และ จัดการกับสถานการณ์ เมื่อรู้ต้นตอของปัญหา อย่าดุลูกต่อหน้าคนอื่น เพราะ การดุด่า รังแต่จะทำให้ลูกเสียความมั่นใจ และ ไม่อยากเรียนรู้
2. รักและให้กำลังใจลูก
ยอมรับจุดอ่อนของลูก คุณพ่อคุณแม่ ไม่ควรโกรธ แสดงความผิดหวัง หรือ บั่นทอนกำลังใจลูก อย่าคาดหวังในตัวลูกสูงเกินไป พยายามให้กำลังใจลูกเมื่อเขาทำไม่ได้ บอกเขาว่าคราวหน้าเขาจะทำได้ดีขึ้น อย่าเปรียบเทียบลูกกับลูกคนอื่น ๆ
3. สอนลูกอย่างอดทน
สอนลูกให้รู้พื้นฐานของตัวอักษรก่อน เช่น หน้าตาตัวอักษรแต่ละตัวเป็นอย่างไร และ เขียนอย่างไร ใช้อุปกรณ์การสอนมาช่วยเพื่อให้ลูกจำ และ ทำให้ลูกรู้สึกสนุกกับการเรียน อาจใช้วิธีเรียนโดยการเล่นเกม ถ้าเจอวิธีที่ได้ผล ก็ใช้วิธีนั้นจนกว่าลูกจะอ่านและเขียนตัวอักษรได้ทั้งหมด จากนั้นจึงเริ่มผสมคำเป็นคำง่าย ๆ สั้น ๆ เมื่อเขาเริ่มอ่านคำได้บ้าง ลองหานิทานง่าย ๆ มาให้เขาลองอ่าน ให้เขาเลือกเรื่องที่เขาอยากอ่าน
เคล็ดลับในการสอน คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทน อย่าโมโหหรือเร่งลูกให้อ่านเร็วๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้ลูกรักการอ่านได้ โดยการอ่านหนังสือให้เขาฟังทุกคืนก่อนนอน และ เมื่อลูกเริ่มอ่านได้ ก็ให้เขาอ่านให้ฟัง
4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ถ้าผู้ปกครองสอนเองไม่ได้สำเร็จ
ถ้าคุณพ่อคุณแม่สอนแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือ ไม่มีเวลา ลองขอให้คุณครูหรือคนที่เชี่ยวชาญในการสอนเด็กอ่านช่วย นี่ไม่ได้หมายความว่า เด็กที่มีปัญหาเรื่องการอ่านเขียน จะต้องเข้าโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ เขายังคงเรียนในโรงเรียนปกติได้ แต่พยายามเลือกโรงเรียนที่คุณครูสามารถเอาใจใส่นักเรียนแต่ละคนได้เต็มที่
5. ใช้ศิลปะ หรือ กิจกรรมยามว่างอื่นๆ
เด็กหลายคนแม้จะไม่ได้โดดเด่นในด้านการเรียนทางวิชาการเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ แต่ก็มีความสามารถพิเศษของตนเอง โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องหาให้เจอด้วย
6. ที่สำคัญที่สุด คือพ่อแม่ต้องเข้าใจลูก
อย่าคิดว่าลูกผิดปกติ อย่าคิดแค่ว่าลูกอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะในหลายบริบท ลูกคือเด็กทั่วๆไป เขาสามารถเป็นหัวหน้าชั้น ปฎิบัติธรรมได้ ทำงานศิลปะที่สวยงามได้
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ นักวิชาการผู้รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษ “คุณพุ่ม” ได้ให้คำแนะนำและการเยียวยาสำหรับครอบครัวที่มีลูกเป็น LD ดังนี้
> ให้หาสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก LD โดยเฉพาะมาให้ลูก เช่น นิทานหนังสือต่าง ๆ สำหรับเด็ก LD เด็ก LD สามารถเรียนรู้ได้เหมือนเด็กคนอื่น ๆ เพียงแต่มีวิธีเรียนรู้ที่ต่างออกไปเท่านั้น
> สำหรับการจัดการเรียนการสอน ให้เด็กเรียนร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียนปกติ แต่ต้องเลือกโรงเรียนที่เข้าใจเด็กด้วย
> เด็ก LD จะมีจินตนาการกว้างไกล และ มีความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ พยายามหากิจกรรมนอกเวลาที่ให้ลูกได้ใช้ ความคิดสร้างสรรค์ และ ได้ส่งเสริมจินตนาการของลูกอย่างเต็มที่
> ที่สำคัญที่สุด คือ อย่ามัวแต่ไปกังวลว่า ลูกจะอ่านออกไหม อย่าวิตกกังวลจนเกินไป ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจลูก จนเครียดและวิตกกังวล จะทำให้เด็กก้าวร้าวไปด้วย พ่อแม่ต้องใจเย็นและอย่ามองว่าลูกบกพร่อง อย่าเอาค่านิยมของสังคมมาตัดสินเด็ก คนเราไม่จำเป็นต้องอ่านเก่ง เขียนเก่ง หรือ เรียนดี แค่มีวิธีชดเชยข้อบกพร่อง หาความโดดเด่นและความสามารถด้านอื่นในตัวลูก ให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีค่า ได้รับการยอมรับ และ เป็นที่รักของพ่อแม่ก็เพียงพอแล้ว
ปัญหายังไม่สายเกินแก้ แค่คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามแก้มันไปพร้อมๆ กับลูก จำไว้ว่า เด็กทุกคนล้วนมีความสามารถอยู่ในตัว
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก :