รู้หรือไม่? อนาคตของลูกน้อยสมาธิสั้น ขึ้นกับพ่อ-แม่ !!!
สิ่งที่พ่อ-แม่ ทุกคนอยากรู้ ก็คือ ลูกของเราที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น โตขึ้นแล้วเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง....
ลูกจะดีขึ้นไหม หายขาดไหม..?
ลูกจะเรียนหนังสือได้ไหม เข้ามหาวิทยาลัยได้หรือเปล่า..?
ลูกจะทำงานได้ไหม จะเข้ากับคนรอบข้างได้หรือไม่..?
ลูกจะมีครอบครัวได้ไหม..? มีลูกหลานแล้วจะเป็นอย่างไร..?
นี่คงจะเป็นคำถามในใจพ่อแม่ทุกคน ถ้าเราทราบข้อมูลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะได้ทำการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องรวดเร็ว
เด็กที่เป็นสมาธิสั้นเมือโตขึ้น จะหายได้หรือไม่..?
เมื่อเด็กโตขึ้นผ่านวัยรุ่น ประมาณ 1 ใน 3 ของเด็ก มีโอกาสหายจากโรคนี้ได้เอง สามารถเรียนหนังสือ หรือ ทำงานได้โดยปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยา เนื่องจากระบบประสาทในสมองส่วนหน้า มีการพัฒนาการที่สมวัยมากขึ้น อาการมักจะดีขึ้น โดยไม่ต้องรักษาอะไรเลย
แล้วเด็กอีก 2 ใน 3 ล่ะ จะเป็นอย่างไรบ้าง..?
มีการศึกษาในระยะยาวของเด็กสมาธิสั้น เพื่อดูว่าเด็กเหล่านี้อายุมากขึ้นแล้ว อาการของโรคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จะหายเมื่อไหร่ และจะมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นได้บ้าง เด็กเหล่านี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่..?
โดยเรามาดูตัวอย่างผลการศึกษาเรื่องเหล่านี้กัน
การศึกษาของ Weiss
Weiss และผู้ร่วมงาน ได้ติดตามดูกลุ่มเด็กสมาธิสั้น ที่วินิจฉัยเมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 8 ปี โดยติดตามเมื่อ 5, 10, 15 ปีผ่านไป พบว่า เมื้อผ่านไป 5 ปี (อายุเฉลี่ยประมาณ 13 ปี) ถึงแม้ว่าอาการซน อยู่ไม่นิ่ง และก้าวร้าว จะลดลงตามอายุ แต่ส่วนใหญ่จะยังคงมีปัญหาทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมตามวัย ไม่สามารถทำอะไรให้บรรลุเป้าหมายได้ และ มีความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
√ ร้อยละ 80 จะมีผลการเรียนที่ไม่ดี โดยร้อยละ 70 จะเรียนซ้ำ อย่างน้อย 1 ปี และร้อยละ 35 จะเรียนซ้ำ 2 ปี หรือมากกว่า
√ ร้อยละ 25 จะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ( Antisocial) เมื่อผ่านไป 10 ปี (หลังผ่านวัยรุ่น) จะมีอาการวู่วาม ความวิตกกังวล ความตึงเครียด และอาการต่อต้านมากขึ้น ส่วนน้อยจะมีปัญหาทางจิตเวชที่รุนแรง หรือ มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม
เมื่อผ่านไป 15 ปี (เป็นผู้ใหญ่อายุประมาณ 25 ปี) จะยิ่งมีบุคลิกภาพผิดปกติ ในด้านต่อต้านสังคม มากกว่าคนทั่วไปกลุ่มควบคุม (คือ ร้อยละ 23 : 2) และจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 66 จะยังคงมีอาการผิดปกติของ โรคสมาธิสั้น อย่างน้อย 1 อย่าง
การศึกษาของ Jan Loney
Jan Loney และผู้ร่วมงาน ได้ศึกษาเด็กสมาธิสั้นที่วินิจฉัยเมื่ออายุระหว่าง 4 – 12 ปี จำนวน 200 ราย เมื่อเด็กเหล่านี้อายุ 21- 23 ปี จำนวน 65 ราย พบว่า มีโอกาสสูงในการเกิดบุคลิกภาพต่อต้าน และ เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
Lambert ได้รับการศึกษาเด็กสมาธิสั้น ก็พบว่า
√ ร้อยละ 20 หาย
√ ร้อยละ 37 มีความผิดปกติด้านการเรียนลำพฤติกรรมเหลืออยู่
√ ร้อยละ 43 อาการคงเดิม
จะเห็นได้ว่า แต่ละการศึกษาที่แตกต่างกัน ก็จะมีข้อสรุปที่แตกต่างกันบ้าง แต่ว่าแนวโน้มทั้งหมดแล้วจะคล้ายกัน กล่าวคือ
• เมื่อโตขึ้น อาการหุนหันพลันแล่น และ อาการไม่อยู่นิ่ง จะลดลง ทำให้เข้าใจผิดว่าหายแล้ว แต่ถ้าดูกันดีๆ จะพบว่าเขายังมีความผิดปกติอยู่เทียบกับเพื่อนอายุรุ่นเดียวกัน
• ส่วนหนึ่งประมาณร้อยละ 25-50 ยังคงมีปัญหา ขาดความสามารถในการควมคุมตนเอง วอกแวก พฤติกรรมต่อต้านสังคม อารมณ์ร้อน ติดสุราและ ยาเสพติดได้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
• เด็กสมาธิสั้นบางส่วนเท่านั้น ที่อาการจะหายไป
ปัจจัยที่สำคัญมากในการรักษาโรคสมาธิสั้น คือ การพยามลดสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้สมาธิสั้นมากขึ้น และ ปรับพฤติกรรมด้วยการเลี้ยงดูอย่างถูกวิธี เพราะ ยารักษาโรคสมาธิสั้นที่ดีที่สุดคือ “ ความรัก ความเข้าใจ ของพ่อแม่ ”
วิธีการปรับพฤติกรรม เป็นวิธีหนึ่งในหลายวิธี ที่ผสมผสานในการดูแลรักษา โรคสมาธิสั้น เราลองมาดูรายละเอียดทั้ง 2 แนวทางนี้กันที่ละอย่าง
1. การปรับพฤติกรรม หรือ พฤติกรรมบำบัด
การปรับพฤติกรรม เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์ สำหรับการดูแลเด็กสมาธิสั้น เป็นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจของเด็ก ให้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากเด็กเองก็รับรู้ถึง ผลจากพฤติกรรมของตัวเอง และ ความไม่พอใจ ความโกรธของคนรอบข้าง ทำให้รู้สึกว่า ตัวเองไม่เอาไหน นิสัยไม่ดี ทำให้ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง เด็กมักถูกลงโทษ จากทั้งครูและพ่อ-แม่ บ่อยกว่าคนอื่น และ ถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กซน นิสัยไม่ดี
การปรับพฤติกรรม ต้องปรับที่พ่อแม่ พี่น้อง และ ครู แล้วถึงตัวเด็ก ดังนั้นพ่อแม่และครู ต้องศึกษาวิธีการต่างๆ ให้เข้าใจโดยละเอียด
ความรักและความเข้าใจในสิ่งที่เด็กเป็น และ พยายามให้กำลังใจเด็ก และ มีส่วนช่วยเหลือให้เด็กประสบความสำเร็จได้ การเข้าใจเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้องในการกำจัดพฤติกรรมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกาย เป็นวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และ จะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือ แสดงพฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน และ ก้าวร้าวมากขึ้น วิธีที่ได้ผลดีกว่า คือ การให้คำชม หรือ รางวัล เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง
ข้อแนะนำสำหรับพ่อ-แม่ และ ครูในการอยู่ร่วมกับเด็กสมาธิสั้น
1.1 เข้าใจเด็ก
√ เป็นธรรมชาติของเขา
√ ไม่ได้แกล้ง
√ ไม่ได้นิสัย ไม่ดี
√ ไม่ใช่เด็กดื้อ / ไม่อดทน
√ ไม่ใช่สอนไม่จำ
√ ไม่ใช่ไม่มีความรับผิดชอบ
1.2 หลีกเลี่ยงการตำหนิ ต่อว่า เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นผลของสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง
1.3 ช่วยทำให้เด็กใช้พลังงานไปในทางสร้างสรรค์ หากิจกรรมให้ทำ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นดนตรี
1.4 เขาต้องการความรัก การแสดงความรัก ความเข้าใจของผู้ใหญ่
2. หนทางที่ช่วยปรับสมองให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์ที่สุด
ดร.Amen ได้เสนอแนะหนทางปฎิบัติที่ช่วยปรับสมอง เพื่อให้สมองปฏิบัติหน้าที่ได้สมบูรณ์ที่สุด ได้แก่
> การใช้ยาที่เหมาะสม เช่น ยากระตุ้นสมอง
> การใช้สารอาหารเสริมที่จำเป็นและสมุนไพร
> การออกกำลังกายและอาหารที่เหมาะสม
> การฟังดนตรีและร้องเพลง
> เรียนรู้การหายใจด้วยกะบังลม (Diaphragmatic Breathing)
> การฝึกสมาธิทุกวัน และ การเรียนรู้การฝึกสะกดจิตตัวเอง (Self-Hypnosis)
การดูแลบำบัดและรักษาโรคสมาธิสั้น ซึ่งมีความผิดปกติหลายๆ สิ่งรวมกัน ทั้งด้านการทำงานของสมองส่วนหน้า สารสื่อนำประสาทโดปามีน การไหลเวียนของเลือดในสมองผิดปกติ และ คลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติ ควรเลือกแนวทางหลายๆวิธี ที่ช่วยกระตุ้นสมองให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กลับสู่สถาพปกติได้อย่างถาวรในอนาคต ดีกว่าปล่อยไปตามยถากรรม พูดง่ายๆคือ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ หากได้รับการกระตุ้นและท้าทายอยู่ตลอดเวลา
สุดท้ายนี้ อยากทิ้งท้ายไว้ว่า หากลูกมีสมาธิสั้น หรือ เข้าข่ายสมาธิสั้น พ่อ-แม่ ไม่ควรละเลย พร้อมอาการสมาธิสั้นนั้น หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี อาจจะส่งผลกระทบระยาวกับลูกได้ในอนาคต ทั้งในด้านการเรียน การเข้าสังคม และ การทำงานในนาคต เพราะ จากงานวิจัยพบว่า เด็กสมาธิสั้นนั้น ส่วนมากจะไม่สามารถใช้ความสามารถได้เท่ากับความสามารถที่แท้จริงของเด็ก
======================================
และ เว็บไซต์ th.wikipedia.org