
หลายครั้งพ่อแม่ใช้หน้าจอเครื่องมือสื่อสาร เป็นตัวหยุดความไม่อยู่นิ่งของเด็ก การปล่อยให้เด็กซึมซับสื่อจากโทรทัศน์ แทบเล็ต มือถือมากๆ ก็เป็นการส่งเสริม “ภาวะสมองเสื่อมจากการเสพติดจอ” หรือโ รคที่ภาษาแพทย์เรียกว่า ดิจิตอล ดีเมนเทีย (Digital Dementia)
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และ พฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า มีงานวิจัยจากเยอรมนีและเกาหลี ที่ให้ข้อมูลตรงกันว่า ปัจจุบันเด็กทั่วโลกกำลังประสบ ภาวะสมองเสื่อมจากการเสพติดจอ ผลคือ สมองซีกขวาซึ่งทำงานเกี่ยวกับความจำ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสังคมทำงานน้อยลง เมื่อเด็กๆ หมกมุ่นและใช้เวลาอยู่กับหน้าจอของบรรดาเครื่องมือสื่อสารมากเกินไปในแต่ละวัน ประสิทธิภาพใน การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาต่างๆ ของเด็กก็ลดลงตามไปด้วย
พูดง่าย ๆ คือ เด็กจะมีอีคิวต่ำลง ไม่รู้จักการปฏิสัมพันธ์ เพื่อเรียนรู้ความรู้สึกความเข้าใจในตัวเองและผู้อื่น มีผลต่อการเรียน และ การทำงานเป็นทีม เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น และ ผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ การใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ไม่มีอุดมการณ์ หรือ แนวความคิดร่วมทางสังคม
สำหรับประเทศไทย แม้ยังไม่มีงานวิจัยเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับ อาการดิจิตอล ดีเมนเทีย ในเด็ก แต่คุณหมอพบว่า ปัจจุบันพ่อแม่จำนวนมากกำลังประสบปัญหาดังกล่าว จากพัฒนาการของลูกที่ไม่เป็นไปตามวัย และ หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวก็คือ การใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นพี่เลี้ยงลูก
วิธีป้องกันและแก้ไข คือ ปล่อยให้เด็ก ๆ วิ่งเล่นซุกซนตามประสา หรือ สนับสนุนให้พวกเขาไปทำกิจกรรมนอกบ้านหลังเลิกเรียน หรือ ให้เล่นกีฬากลางแจ้งที่ชอบ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ฮอร์โมนเอนโดฟิน หรือ สารสร้างความสุขในร่างกาย จะหลั่งออกมาเมื่อมีการออกกำลังกายต่อเนื่องนาน 20-30 นาที
เด็ก ๆ ที่ออกกำลังด้วยการวิ่งเล่นไล่จับ ขุดดินเล่นเลอะโคลน คลุกฝุ่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน จะมีสีหน้าท่าทางเปี่ยมสุขจากความสนุกที่ได้รับ แบ่งเวลาทำเช่นนี้กับลูกทุกวัน ถือเป็นวิธีการง่ายที่สุด และ ควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอเพื่อทำให้เด็กๆ ติดสุข จากการออกกำลังกายแทนการติดหนึบอยู่หน้าจอ ฉะนั้น แรงผลักดันสำคัญจึงต้องมาจากพ่อแม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า การเสพติดจอของเด็ก ก็เกิดมาจากพฤติกรรมของพ่อแม่นั่นเอง

สมรรถนะ 7 ด้านของเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐาน
ดร.วรนาท รักสกุลไทย หนึ่งในนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเด็กปฐมวัย และ เป็นผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพเด็ก มาอย่างยาวนาน ได้ให้ข้อมูลที่ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนรวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองถึงกับอึ้งไปตามๆกัน เมื่อมีรายงานวิจัยระบุว่า สมรรถนะของเด็กไทย 7 ด้าน ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเคลื่อนไหว ทักษะด้านสังคม ทักษะด้านอารมณ์ ทักษะด้านการคิดและสติปัญญา ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะด้านจริยธรม และ ทักษะด้านการสร้างสรรค์
จากผลวิจัยนี้ได้ตอกย้ำชัดเจนว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รูปแบบการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ยุคใหม่ ได้ใช้อุปกรณ์สื่อสารหลากหลายชนิดเข้ามามีส่วนให้เด็กได้แตะต้องสัมผัส ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่พ่อแม่ แม้จะมีความตระหนัก แต่อาจไม่ระมัดระวัง
“โดยทั่วไปอัตราเด็กอนุบาลที่มี อาการสมาธิสั้น ในแต่ละห้องเรียนจะมีอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 แต่ตอนนี้อัตรามันเพิ่มเป็นร้อยละ 10-15 มากขึ้นจนน่าเป็นห่วง อาการสมาธิสั้นของเด็ก มีสาเหตุสำคัญมาจากสิ่งเร้ารอบตัวเขา ที่กระทบประสาทสัมผัสทางตาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นจอประเภทไหน ล้วนไม่ได้ส่งเสริมการเติบโตที่สมบูรณ์ของเด็กๆ”
ดร.วรนาท กล่าว และระบุว่า พ่อแม่ควรส่งเสริมสมรรถนะรอบด้านและพัฒนาการตามวัยของเด็ก ด้วยการสนับสนุนให้เด็กๆ ออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้ง ได้ออกกำลังกาย หรือ ทำกิจกรรมนอกบ้านให้มากขึ้น
ส่งเสริมให้ลูกติดสุขกับการเล่น การออกกำลังกาย ดีกว่าให้พวกเขาติดหนึบอยู่หน้าจอ
พ่อแม่อย่า ‘กลัวเลอะ’ แต่มาชวนลูกๆ ให้ ‘กล้าเลอะ’ กันดีกว่า
--------------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจาก
www.dirtyisgoodclub.com
ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์สมองดี HealthyBrain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์ สารอาหารบำรุงสมอง
เพิ่มสมาธิ เสริมสร้างความจำ และ ความสามารถในการเรียนรู้
ช่วยลดความเครียด ปรับอารมณ์ และ ทำให้ผลการเรียนให้ดีขึ้น