เทคนิคการดูแลเด็กและวัยรุ่น ที่เป็นสมาธิสั้นสำหรับผู้ปกครอง

ปัญหาการเรียน เป็นปัญหาสำคัญที่สังคมไทยให้ความใส่ใจมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

โดยเฉพาะ สมาธิสั้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการเรียนมีหลากหลาย ทั้งจากปัญหาการดูแลครอบครัว คุณภาพการสอน รวมถึงปัจจัยตัวเด็กเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส่งผลต่อการเรียนคือ โรคสมาธิสั้น ซึ่งพบในเด็กไทยราวร้อยละ 5.4  ทำให้เด็กขาดสมาธิ ซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่สามารถเรียนได้เต็มที่ตามศักยภาพ 

ในปัจจุบันเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการดูแล แม้จะมีการคัดกรองโดยโรงเรียน แต่ไม่ได้รับบริการทางสาธารณสุข เนื่องจากความขาดแคลนบุคลากร และทรัพยากรในการจัดบริการ ทำให้อัตราการเข้าถึงบริการต่ำมาก ส่วน โรคสมาธิสั้น เมื่อเข้าไม่ถึงบริการทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแล เกิดปัญหาการเรียนต่อเนื่อง ไม่สามารถอยู่ในระบบโรงเรียนได้ หรือ แม้อยู่ได้ก็ใช้ความสามารถของตนเองไม่เต็มที่ เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมตามมา  ซึ่งมักแสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรมในวัยรุ่น ทั้งกรณีตั้งครรภ์วัยรุ่น ยาเสพติด พฤติกรรมเกเร ก้าวร้าวรุนแรง เป็นต้น

ได้ชื่อว่าเป็นพ่อแม่ของลูกสมาธิสั้น หรือ สมาธิบกพร่อง คงต้องรับบทหนักกันหน่อย เพราะเด็กในกลุ่มนี้ จะมีความบกพร่องในการใส่ใจ การคงสมาธิ ทำให้วอกแวก อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น วู่วาม หรือ ทำอะไรโดยไม่ทันได้คิด จึงมักประสบอุบัติเหตุจากความซน และความไม่ระวังของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง

การดูแลลูกที่เป็นสมาธิบกพร่อง พ่อแม่ต้องมีความรู้ และความเข้าใจ เพราะเด็กในกลุ่มนี้ จะมีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเรียน การเล่น หรืออื่นๆ  ดังนั้น เด็กไม่ได้แกล้งซน แกล้งไม่เชื่อฟัง หรือ ขาดความรับผิดชอบ  แต่มันเป็นอาการผิดปกติการทำงานของสมอง ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้


สาเหตุที่เกิดโรค

√ เกิดจาก สารสมาธิในสมองส่วนหน้าน้อยกว่าปกติ (โดปามีน)
√ การรักษา คือ ยาเพิ่มสมาธิ (Methylphenidate) ร่วมกับการ ปรับพฤติกรรมที่บ้านและในห้องเรียน
√ ตอบสนองต่อการรักษา 90% ทำให้ผลการเรียนดีขึ้นได้

หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีปัญหา พฤติกรรมและผลกระทบต่อเนื่อง จนถึงช่วงวัยรุ่น เช่น ต้องออกจากโรงเรียน ปัญหาสารเสพติด พฤติกรรมรุนแรง ปัญหาเรื่องเพศ

พ่อแม่ของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น หรือ สมาธิบกพร่อง จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก  ซึ่งการตี หรือ การลงโทษทางร่างกาย เป็นวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือแสดงพฤติกรรมดื้อต่อต้าน  จนก้าวร้าวมากขึ้น  เพราะผู้ป่วยสมาธิสั้นต้องอยู่กับครอบครัว และสังคมทั่วไปเป็นส่วนมาก การป้องกันการเกิดความรุนแรงของโรค จึงต้องมีการสอนเทคนิคให้ผู้ปกครองทราบ เข้าใจ ใส่ใจในการดูแลผู้ป่วยสมาธิสั้น


7 เทคนิคการดูแลเด็กและวัยรุ่นที่เป็นสมาธิสั้น สำหรับผู้ปกครอง


เทคนิคที่ 1 ลดสิ่งเร้า

สิ่งเร้า เป็นตัวสำคัญที่ทำให้สมาธิของลูกน้อยลดลง ดังนั้น การลดสิ่งเร้า สมองจะไม่ถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เด็กไม่จดจ่ออยู่กับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่สำคัญ  นำไปสู่การมีสมาธิกับสิ่งสำคัญได้มากขึ้น

สำหรับวิธีลดสิ่งเร้านั้น พ่อแม่ควรจัดบ้านให้เรียบง่าย และเรียบร้อย ไม่ควรมีลวดลายสีฉูดฉาด หรือ ของตกแต่งบ้านมากเกินไป พร้อมทั้งจัดของให้เป็นระเบียบ เก็บของในตู้ทึบแทนตู้กระจก

   > ควรจัดที่เงียบๆ ให้ลูกได้ทำงาน หรือ ทำการบ้าน ต้องไม่มีเสียงโทรทัศน์รบกวน ส่วนบนโต๊ะควรมีเฉพาะสมุด ดินสอ และยางลบ

   > มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสงบ พูดกับเด็กด้วยเสียงเบา ไม่ตะโกน โวยวาย รวมทั้งพ่อแม่ไม่ควรทะเลาะ หรือใช้ความรุนแรงต่อหน้าลูก
   > หัดให้ลูกอยู่ในบรรยากาศที่สงบ หรือ ทำกิจกรรมเงียบ ๆ เช่น หัดให้นั่งเล่นในสนามหญ้าเงียบ ๆ ลดการเที่ยวศูนย์การค้า ไม่ซื้อของเล่นให้มากเกินไป อีกทั้งจำกัดเวลาดูโทรทัศน์ เล่นเกม และคอมพิวเตอร์
   > ด้านสภาพแวดล้อมที่โรงเรียน ควรจัดให้เด็กมานั่งใกล้ ๆ ครู ไม่ควรให้นั่งใกล้ประตูหน้าต่าง หรือ เพื่อนที่ชอบเล่น ชอบคุย


เทคนิคที่ 2 เฝ้ากระตุ้น

   > จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่คอยติดตาม และ ตักเตือนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กเล็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลาแม้จะรู้และเข้าใจว่าควรทำสิ่งใดก็ตาม
   > เด็กต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่และครูตลอดเวลา
   > ทำบันทึกร่วมกันระหว่างพ่อแม่และครู

วิธีการกระตุ้น

   √ เตือนเด็กเมื่อถึงเวลาทำงาน หรือ เตือนเมื่อหมดเวลาเล่น
   √ โน้ตข้อความสำคัญในที่ที่เด็กเห็นได้ง่าย เช่น กล่องดินสอ โต๊ะเรียน ผนังห้อง หรือ กระดาน
   √ ตั้งนาฬิกา หรือเครื่องจับเวลาให้เด็กเห็นชัดๆ ขณะทำงาน เพื่อให้เด็กกะเวลาได้ดีขึ้น และ ตั้งใจทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนด
   √ แบ่งงานให้สั้น โดยให้เด็กได้พักเป็นช่วง ๆ
   √ แนะเคล็ดวิธีช่วยจำให้ลูก เช่น การย่อทำสัญลักษณ์ผูกเป็นโคลง
   √ ให้เด็กอ่านออกเสียงหัดขีดเส้นใต้ขณะเรียน


เทคนิคที่ 3 หนุนจิตใจ

   > เด็กมักทำสิ่งต่างๆ ไม่สำเร็จ เพราะได้รับแต่คำตำหนิติเตียน หมดความมั่นใจ เด็กจึงต้องการกำลังใจอย่างมากจากพ่อแม่ และคุณครู
   > ระวังที่จะไม่เข้มงวดจับผิด แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กคิด
   > ช่วยเด็กหาวิธีแก้ไขจุดอ่อน เช่น ขี้ลืม
   > หาเรื่องตลกขำขัน มาคุยกับเด็ก เล่นกับเด็ก อย่างสนุกสนาน หรือ พาเด็กออกกำลังกายบ้าง
   > ชมเด็กบ่อยๆ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี หรือ มีความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ
   > บอกสิ่งที่สังเกตได้ในทางบวก เช่น เหนื่อยไหม แม่เห็นลูกทำมานานแล้ว  วันนี้ลูกคิดได้เร็วกว่าเมื่อวานเยอะเลยนะ หรือ ทำมาได้ตั้ง 3 ข้อแล้ว  เอาเหลืออีก 2 ข้อเองคนเก่งของพ่อ


เทคนิคที่ 4 ให้รางวัล

เด็กที่สมาธิบกพร่อง มักจะเบื่อ และ ขาดความอดทน แต่หากมีรางวัลตามมา เด็กจะรู้สึกท้าทาย และมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น โดยการให้รางวัล ควรให้ง่ายๆ บ่อยๆ มากกว่าที่ให้เด็กทั่วไป และต้องให้ในทันที

นอกจากนี้ควรเปลี่ยนรางวัลบ่อยๆ เพื่อให้เด็กได้สนุก และสนใจ อาจให้เด็กได้ลองคิดรางวัลเองบ้างหรือให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็กเข้าใจและมีส่วนร่วมในการให้แต้ม/รางวัลแก่เด็กตลอดเวลา สำหรับการให้รางวัล ถือเป็นแรงจูงใจที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กได้ โดยมีขั้นตอนการให้รางวัลง่ายๆ คือ

   √ ระบุพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นทดแทนพฤติกรรมปัญหา (เลือกให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มีผลต่อเด็กในระยะยาวก่อน)

   √ให้รางวัลกับพฤติกรรมใหม่ทุกครั้งที่เห็น

   √ หลังจากฝึกได้ 1-2 สัปดาห์ เริ่มใช้การลงโทษแบบไม่รุนแรง เช่น Time out ตัดสิทธิ์ อดรางวัล เมื่อเกิดพฤติกรรมปัญหา

   √ ใช้วิธีการให้รางวัลมากกว่าการลงโทษ


เทคนิคที่ 5 การพูดกับเด็ก

   > ไม่พูดมาก ไม่เหน็บแนมประชดประชัน ไม่ติเตียน
   > บอกกับเด็กสั้นๆ ง่ายๆ ว่าต้องการให้ทำอะไรในตอนนี้
   > หากไม่แน่ใจว่าเด็กฟังอยู่ เข้าใจ พ่อแม่ควรให้เด็กทบทวนว่าสิ่งที่สั่ง หรือ พูดไปคืออะไรบ้าง

อย่างไรก็ดี หากเด็กไม่ทำตามคำสั่ง พ่อแม่ควรใช้วิธีเดินเข้าไปหา จับมือ แขน หรือ บ่า สบตาเด็ก พูดสั้นๆ จากนั้นให้เด็กพูดทวน หากเด็กไม่ทำ ให้พาไปทำด้วยกัน หลีกเลี่ยงการบังคับ หรือ ออกคำสั่งตรงๆ  แต่ใช้วิธีบอกกับเด็กว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง เช่น หากต้องการให้เด็กเริ่มต้นทำการบ้าน แทนที่จะสั่งให้เด็กทำการบ้านตรงๆ อาจพูดว่า “เอาล่ะ ได้เวลาทำการบ้านแล้ว หนูจะเริ่มทำภาษาไทยก่อน หรือ จะทำเลขก่อนดีจ้ะ” เป็นต้น


เทคนิคที่ 6 นับสิ่งดี

   > หาเวลาหยุดพักสั้นๆในแต่ละวัน
   > เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เด็กไม่ได้ตั้งใจทำตัวให้มีปัญหา แต่เด็กมีความผิดปกติในการทำงานของสมอง ทำให้คุมตัวลำบาก หยุดตัวเองได้ยากและไม่มีใครอยากเป็นแบบนี้
   > ให้อภัยแก่เด็ก ตัวเราเอง และทุกคนที่อาจไม่เข้าใจในพฤติกรรมของลูก
   > คิดถึงความน่ารัก และ ความดีในตัวเด็ก และ ตัวเรา(พ่อแม่)เอง


เทคนิคที่ 7 มีขอบเขต

   > มีตารางเวลา หรือ รายการสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้เด็กรับรู้ขีดจำกัด และช่วยควบคุมให้เด็กทำตามง่ายขึ้น
   > เรียงลำดับกิจกรรมง่ายๆ ให้ชัดเจน และแน่นอน เช่น เวลาตื่น เวลานอน เวลาทำการบ้าน อ่านหนังสือใช้คอมพิวเตอร์เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมอื่นๆ
   > ไม่ปล่อยปละละเลย หรือ ตามใจมากเกินไป เพื่อไม่ให้เด็กสับสนและผัดผ่อนต่อรองบ่อย ๆ


การดูแลลูกสมาธิสั้น สำคัญที่สุด พ่อแม่ต้องมีทัศนคติต่อเด็กในทางบวก ซึ่งพ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า ลูกไม่ได้แกล้งซน แกล้งดื้อ จากนั้นใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรม ที่ไม่ทำลายความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองของเด็กให้ลดลง  ตามวิธีที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อรู้จักลูกของเราแล้ว เรามาเลี้ยงเขาอย่างสร้างสรรค์กันดีกว่า

-------------------------------------------------- 

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจาก

www.prdmh.com

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์สมองดี HealthyBrain

สนับสนุนโดย อเลอไทด์  สารอาหารบำรุงสมอง 

เพิ่มสมาธิ เพิ่มความจำ ความสามารถในการเรียนรู้

ช่วยลดความเครียด ปรับอารมณ์ และ ทำให้ผลการเรียนให้ดีขึ้น

ปรึกษาปัญหาเด็กแอลดี/สมาธิสั้น
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์
โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 394,300