เบื่อง่าย ใช้ชีวิตไปวัน ๆ แน่ใจนะว่าคุณไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่  หากเป็นโรคนี้แล้ว อาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงกว่า โรคสมาธิสั้นในเด็ก มาสำรวจกันว่า นิสัยของคุณเข้าข่ายโรคนี้ด้วยหรือเปล่า ?

 
โรคสมาธิสั้น
 
          โรคสมาธิสั้น หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Attention-Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) เป็นภาวะความบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง ส่งผลให้มีความผิดปกติทางพฤติกรรม ซึ่งหากเกิดในเด็กอาจเรียกอีกอย่างว่า โรคเด็กซน  แต่หากอาการของโรคแอบซ่อน จนรอดการรักษามาถึงวัยผู้ใหญ่ โรคสมาธิสั้น อาจส่งผลกระทบกับชีวิตและความสำเร็จในหน้าที่การงานได้เลย

          ฉะนั้นเพื่อความแน่ใจ ลองมาเช็กกันหน่อยว่า นิสัยที่เราเป็นอยู่ไม่ได้เข้าข่ายอาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่แน่ ๆ
 
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

          ที่เคยเข้าใจว่า โรคสมาธิสั้น เกิดได้กับเด็กวัยซนเท่านั้น ขอให้เปลี่ยนความคิดซะใหม่ เนื่องจากวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว หรือ วัยผู้ใหญ่เต็มตัว ก็สามารถเป็น โรคสมาธิสั้น ได้  ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีอาการบ่งชี้ที่ติดตัวมาตั้งแต่ในวัยเยาว์ และ อาการของโรคสมาธิสั้นนั้นไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาแต่ไม่ต่อเนื่อง จนมีโรคนี้ติดตัวมาในวัยผู้ใหญ่ด้วย
 
ทั้งนี้ โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
 

           1. โรคสมาธิสั้นที่มีอาการมาตั้งแต่เด็ก  แต่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อาการของโรคจะถือว่าค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถใช้ชีวิตได้ปกติตามวัย  ทว่าก็อาจจะมีอาการของโรคสมาธิสั้นหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ขี้หงุดหงิด เครียดง่าย ขี้โมโห หรือ มีเรื่องกับญาติพี่น้อง และ เพื่อนร่วมงานบ่อยๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนงานอยู่เรื่อย  รวมทั้งอาจมีนิสัยชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  แต่เคสนี้มักจะสามารถควบคุมตนเองได้พอสมควร หรือ อาจมีความคิดสร้างสรรค์ และ สติปัญญาดีด้วยในบางคน

           2. โรคสมาธิสั้น ที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องมาตั้งแต่เด็ก หรือ อาจได้รับความกดดันจากผู้ใกล้ชิด  ทำให้มีพัฒนาการที่ช้าลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้มีอารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ต้องประคับประคองอาการผิดปกติเหล่านี้ด้วยยาเป็นประจำ  แต่ก็ยังอยู่ในขอบข่ายที่ใช้ชีวิตในสังคมได้ เพียงแต่ควรต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

           3. โรคสมาธิสั้นที่ไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรค  เคสนี้ในวัยเด็กจะดูปกติและฉลาดสมวัย ทำให้ไม่มีใครฉุกคิดว่า พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว อันธพาล ชอบความรุนแรง และ ไม่คิดก่อนทำ  เป็นอาการของโรค  แต่เข้าใจไปว่าเป็นแค่เพียงลักษณะนิสัยปกติเท่านั้น  จนในที่สุดก็ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และ อาจเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาชีวิต มีปัญหาการเข้าสังคม และ ไม่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน

          เอ้า ! คราวนี้มาสำรวจกันหน่อยสิว่า โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่  อาการเป็นยังไง แล้วเราเข้าข่ายป่วยด้วยไหมเนี่ย ?

โรคสมาธิสั้น

 
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ อาการบ่งชี้ที่น่าสงสัย

          - ใจร้อน โผงผาง
          - อารมณ์ขึ้นลงเร็ว โกรธง่าย หายเร็ว แต่หากโมโหมาก มักมีเรื่องขัดแย้งรุนแรงกับคู่กรณีเสมอ (ถึงขั้นลงไม้ลงมือ)
          - หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ
          - เอาแต่ใจสุด ๆ
          - วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียนหรือทำงาน
          - รอคอยอะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้
          - ชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อม ๆ กัน แต่มักจะทำไม่สำเร็จแม้แต่ชิ้นเดียว

โรคสมาธิสั้น


          - ไม่รู้จักแบ่งเวลา ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลา
          - ชอบผัดวันประกันพรุ่ง
          - นั่งอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้นาน ชอบเขย่าขา ลุกเดินบ่อย ๆ หรือเล่น/คุยโทรศัพท์ แม้ในขณะขับรถก็ตาม
          - เบื่อง่าย ต้องการสิ่งเร้าใจอยู่เสมอ
          - ขาดระเบียบวินัยในตนเอง ห้องหรือที่อยู่อาศัยรกรุงรัง
          - เปลี่ยนงานบ่อย เนื่องจากความผิดพลาดจากการทำงาน หรือปัญหากับเพื่อนร่วมงาน
          - มาสาย ผิดนัดบ่อย ไม่ใส่ใจกับธุระของผู้อื่น เคร่งครัดเฉพาะเรื่องที่ตนสนใจเท่านั้น
          - พฤติกรรมก้าวร้าว มักมีปัญหากับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ผู้บังคับบัญชาก็ตาม

โรคสมาธิสั้น


          - ชอบขับรถเร็วมากจนเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุ
          - ชอบใช้จ่ายโดยไม่ยั้งคิด มักสร้างหนี้ต่อเนื่อง
          - คุยโอ้อวดความสามารถของตนเอง
          - ขาดสมาธิจดจ่อ ไม่สามารถรับฟังผู้อื่นพูดนาน ๆ ได้ ส่งผลให้ขาดความรอบคอบในการทำงาน
          - ขี้หลงขี้ลืม
          - ขาดความมั่นใจในตนเอง
          - ชอบโพล่งขึ้นมาดื้อ ๆ ในวงสนทนา ชอบขัดจังหวะ หรือแสดงพฤติกรรมที่ขาดความยั้งคิดมาก่อน
          - ขาดแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใด ๆ ก็ตาม ทำให้มีลักษณะนิสัยจับจด ไม่ประสบผลสำเร็จในอะไรสักอย่าง

โรคสมาธิสั้น


          - กระสับกระส่าย มีอาการวิตกกังวลแม้แต่กับเรื่องเล็ก ๆ
          - ติดแอลกอฮอล์ หรือมีประวัติใช้สารเสพติด
          - มีแนวโน้มหย่าร้าง เนื่องจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว

          อย่างไรก็ดี การวินิจฉัยของ โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ อาจทำได้ยาก เนื่องจากมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค โดยจะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อ มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นในชีวิต เช่น ต้องเปลี่ยนงานบ่อยจนน่าผิดสังเกต  มีปัญหาการเข้าสังคมอย่างรุนแรง และ ปัญหาเหล่านี้ต้องผลักดันให้มาพบจิตแพทย์  ทว่าหากมีประวัติการป่วยตั้งแต่วัยเด็ก กรณีนี้อาจนำไปสู่การบำบัดรักษาที่ง่ายยิ่งขึ้น

          หากลองสำรวจแล้วพบว่า มีอาการตรงกับลักษณะนิสัยของตัวเองมากเกินครึ่งหนึ่ง แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวิเคราะห์อาการและหาทางออกจะดีกว่า

โรคสมาธิสั้น


โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ การรักษายังทำได้ไหม ?

          แม้ส่วนมาก โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ จะเป็นผลกระทบจากอาการของโรคในวัยเด็ก  หากรู้ทันอาการและได้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว การรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ก็ยังถือว่าไม่สายเกินไป  โดยการรักษาโรคสมาธิสั้น ควรต้องอาศัยการรักษาแบบผสมผสานด้วยวิธีการหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

1. ปรึกษาจิตแพทย์

          การรักษาในขั้นนี้ จะเน้นไปที่การปรับทัศนคติ การปรับพฤติกรรม ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมรอบตัวเองด้วย โดยอาจทำความเข้าใจกับครอบครัวของไปพร้อม ๆ กับ การบำบัด  ให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดเข้าใจโรคและอาการของโรค พร้อมทั้งแนะนำให้ช่วยกันประคับประคองอย่างค่อยเป็นค่อยไป

2. การรักษาด้วยยา

          แพทย์อาจเลือกให้ยารักษาอาการซึมเศร้า ยากระตุ้นทางจิตเวช ยาต้านอัดรีเนอร์จิด หรือ ยาทางจิตเวช  ซึ่งต้องผ่านการวินิจฉัยว่ายาชนิดไหนจะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัย ใช้ง่าย และ มีผลข้างเคียงน้อย

3. ติดตามอาการของผู้ป่วย

          เนื่องจากโรคสมาธิสั้นเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง จึงควรมีการรักษาและติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยในกรณีใช้ยารักษา ควรมีการติดตามประเมินผลข้างเคียงของยา รวมถึง ติดตามผลสัมฤทธิ์ของยากับอาการด้วย

          ซึ่งหากไม่มีอาการตอบสนองด้วยดีจากการรักษาในรูปแบบไหนก็ตาม แพทย์ควรประเมินซ้ำ และ พิจารณาให้การรักษาเพิ่มเติม เช่น รักษาโรคที่พบร่วมกับ โรคสมาธิสั้น (อาจเป็นโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น) ไปพร้อม ๆ กับรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด หรือ ครอบครัวบำบัด ทว่าหากยังไม่เห็นผล กรณีนี้อาจต้องส่งต่อไปให้ถึงมือผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสม

          อย่างไรก็ตาม โรคสมาธิสั้น ไม่ได้เป็นโรคที่น่ากังวล และอยากให้คิดไว้เสมอว่า คนที่เป็นโรคสมาธิสั้น ยังสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างคนปกติ แต่ทั้งนี้ก็ควรต้องยอมรับความจริง และ ยอมเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วย

 
--------------------------------------------
 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพดีๆจาก :

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ชมรมผู้ปกครองบุคคลสมาธิสั้นแห่งประเทศไทย

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

Healthline WebMd

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศุนย์สมองดี HealthyBrain

สนับสนุนโดย อเลอไทด์ สารอาหารบำรุงสมอง

เพิ่มสมาธิ เสริมสร้างความจำ ลดความเครียด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

 

 

ปรึกษาปัญหา สมาธิสั้น
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์
โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 412,447