ลูกสมาธิสั้น หรือ แค่ซนเป็นปกติ สัญญาณของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นเป็นแบบไหน ลักษณะของเด็กสมาธิสั้นเป็นอย่างไร วิธีดูแลเด็กสมาธิสั้นที่พ่อแม่ควรรู้ !!
ลูกสมาธิสั้น ควรทำอย่างไร
โรคสมาธิสั้น หรือ attention-deficithyperactivitydisorder (ADHD) เป็นภาวะบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมองที่มีอาการหลักเป็นความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม 3 ด้าน ได้แก่ การขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง อาการอยู่ไม่นิ่ง และ ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น ซึ่งอาการเหล่านี้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จะแสดงพฤติกรรมที่มากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน โดยที่สาเหตุของ ลูกสมาธิสั้น เกิดจากอะไร หากลูกสมาธิสั้นควรทำอย่างไร
สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น เป็นความผิดปกติของสมองที่สาเหตุหลักมาจาก พันธุกรรม และ อาจมีส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สารตะกั่ว การสูบบุหรี่ของคุณแม่ระหว่างการตั้งครรภ์ และ ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ของการตั้งครรภ์และการคลอด ส่วนปัจจัยการเลี้ยงดู เช่น การไม่ฝึกระเบียบวินัย หรือ การปล่อยให้เด็กใช้เวลากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้น แต่อาจมีส่วนทำให้เกิด โรคสมาธิสั้น มีความบกพร่องที่ชัดเจนมากขึ้น
ลักษณะของโรคสมาธิสั้น
โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะทางคลินิกของโรคสมาธิสั้น เป็นผลมาจากความผิดปกติของสมอง ทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถจดจำสิ่งที่ตั้งใจไว้ หรือ ไม่สามารถจำข้อมูลที่หลากหลายอย่างพร้อมๆ กันได้ ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจด้วยตนเองได้ และ ไม่สามารถวางแผนได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้ดี ซึ่งอาการของโรคสมาธิสั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้
1. อาการขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง (Inattention)
อาการนี้จะยังไม่ปรากฏในวัยเด็กเล็ก แต่จะสามารถสังเกตเห็นได้ชัดในช่วงวัยเรียน โดยเฉพาะเวลาที่เด็กทำกิจกรรมในห้องเรียน หรือ เมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความตั้งใจมาก ซึ่งสังเกตได้จากการที่เด็กมีอาการเหม่อลอย ตาวอกแวก เปลี่ยนความสนใจได้ง่าย ไม่ตั้งใจฟัง ไม่มีความรอบคอบในการทำงาน ไม่สามารถทำงานต่อเนื่องได้ ทำงานไม่เสร็จ โดยเฉพาะงานที่ไม่ชอบ เช่น ทำการบ้าน
นอกจากนี้ เด็กจะมักหลงลืมได้ง่าย ทำของหายบ่อย และ ไม่จัดระเบียบ หรือ ไม่บริหารเวลาเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ มีปัญหาไม่ตรงเวลา ไม่มีความรับผิดชอบ ทำให้พ่อแม่ต้องคอยกำกับดูแลในการใช้กิจวัตรประจำวัน ซึ่งอาการสมาธิสั้น จะมีมากขึ้นเมื่อเด็กถูกสิ่งกระตุ้นให้วอกแวก
อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะลดน้อยลง เมื่อเด็กได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ทั้งนี้ เด็กยังสามารถทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น การเล่นเกม ดูโทรทัศน์ได้เป็นเวลานานๆ
2. อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
สำหรับอาการไม่อยู่นิ่ง มักจะเห็นชัดในวัยเด็กเล็ก โดยที่เด็กจะมีอาการซุกซนมากกว่าปกติ ชอบวิ่งไปเรื่อย ปีนป่ายไม่หยุดนิ่ง ต้องเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา มีพฤติกรรมพูดมากเกินไป และ ส่งเสียงดัง เมื่อเข้าเรียนก็มักจะลุกเดินบ่อยๆ ในห้อง ชอบชวนเพื่อนคุยหรือเล่นในเวลาเรียน ชอบก่อกวนเพื่อน
ในวัยเด็กโต เด็กจะลุกเดินลดลง แต่มักมีอาการไม่หยุดนิ่ง หยุกหยิกตลอดเวลา เดี๋ยวหยิบของมาเล่น เดี๋ยวขยับแขนขา พอโตเป็นวัยรุ่น อาการไม่อยู่นิ่งอาจเป็นเพียงความรู้สึกกระวนกระวายในใจ หรือ ไม่สามารถอดทนทำกิจกรรมอย่างสงบได้
3. อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
อาการนี้ จะเริ่มแสดงตั้งแต่ในวัยเด็กเล็ก โดยที่เด็กจะแสดงอาการใจร้อน หงุดหงิด เวลาที่ต้องรอหรือไม่ได้ดังใจ มักจะเล่นแรงโดยที่ไม่ระวังตัว หรือ ระวังอันตราย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ หรือ การเสียหายของสิ่งของได้บ่อย เมื่อโตขึ้น เด็กจะมีปัญหาเรื่องการอดทนการรอคอย ไม่ชอบการรอคิว มีอาการวู่วาม ทำอะไรไม่คิด เช่น การพูดแทรกคนอื่นในระหว่างที่มีคนพูด แทรกเพื่อนเล่น พูดจาโพล่งออกมาไม่ทันฟังคนอื่น
สำหรับในวัยรุ่น หรือ วัยผู้ใหญ่ อาการจะแสดงออกมาในรูปแบบของการตัดสินใจที่รวดเร็วโดยไม่ไตร่ตรอง มีพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตราย รวมทั้ง อาจได้รับอุบัติเหตุอยู่บ่อยๆ
สำหรับคนที่เป็น โรคสมาธิสั้นนั้น จะแสดงอาการที่แตกต่างหัน บางคนจะมีอาการขาดสมาธิที่เด่ดชัด บางคนจะไม่หยุดนิ่ง แต่ที่พบบ่อยสุดคือ เป็นทั้งด้านสมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่ง และ หุนหันพลันแล่น ซึ่งอาการเหล่านี้ จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่น บางคนจะมีอาการชัดเจนในทุกด้านช่วงวัยอนุบาล พอโตขึ้นอาจจะแสดงเฉพาะสมาธิสั้นอย่างเดียว
...........................................................
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจาก
th.theasianparent.comด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี HealthyBrain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์ อาหารบำรุงสมอง