สัญญาณเตือน เด็กติดเกม แนะรักษาก่อนสาย
สัญญาณเตือน "เด็กติดเกม" แนะรักษาก่อนสาย
จิตแพทย์เด็ก เตือนผู้แม่ผู้ปกครอง สังเกตสัญญาณเสี่ยงลูกติดเกม หากพบความผิดปกติ
> เล่นเกมติดต่อกันนานหลายชั่วโมง
> อดหลับอดนอน กระทบชีวิตประจำวัน
> มีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว เมื่อต้องหยุดเล่นเกม
แนะปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
จากกรณี เด็กคนหนึ่งทุบคอมพิวเตอร์ด้วยอาการอารมณ์เสีย แล้วหยิบมีดเดินเข้าหาครอบครัวหลังเล่นเกมแพ้ ก่อนที่สื่อสังคมออนไลน์จะมีการส่งต่อคลิปวีดีโอเหตุการณ์ดังกล่าว และ วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก
วันนี้ (21 ต.ค.2562) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ระบุว่า องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศ “ โรคติดเกม ” (Gaming Disorder) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสพติดในทางสมอง มีลักษณะคล้ายกับติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และ พฤติกรรมของเด็ก
ตามตัวเลขที่กรมสุขภาพจิตได้ออกมาเปิดเผย ตัวเลขเด็กและวัยรุ่นไทย ที่มีภาวะติดเกมในระดับที่ปานกลาง และ รุนแรงจนต้องได้รับการดูแลเร่งด่วนว่า เพิ่มขึ้น 1.5 เท่าตัว ในรอบสามปี หมอไม่ได้บอกว่า ตัวเกมไม่ดี หรือ ห้ามใครไม่ให้เล่นเกม แต่สิ่งที่ไม่ดีคือ 'การเล่นจนเสพติด' หรือที่เรียกว่า addiction นั้นมีอยู่จริง คือ เด็กและวัยรุ่นที่เล่นเกมจนไม่เป็นอันทำอะไรและเกิดผลเสียต่อตัวเองและคนอื่น
ยกตัวอย่างจริง เคยมีกรณีของเด็กติดเกมคนหนึ่ง เดิมเป็นเด็กที่เรียนเก่ง เชื่อฟังพ่อแม่ดีมาก แต่เมื่อได้ไปเล่นเกมออนไลน์จนเสพติด การเรียนตกลง ทะเลาะกับพ่อแม่มากขึ้น จนวันหนึ่งเด็กต้องมาโรงพยาบาลเพราะพ่อแม่ไม่ยอมให้เล่นเกม เด็กจึงหนีออกจากบ้านไปเล่นเกมที่ร้าน และปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น เพราะกระโดดหนีออกจากหน้าต่างตกลงมาบาดเจ็บ
หมอคิดว่าในยุคสมัยนี้ พ่อแม่คงห้ามไม่ให้เด็กเล่นเกมไม่ได้ แต่ต้องระวังการเล่นจนขาดสติ โดยพ่อแม่ควรจะเข้าใจถึงที่มาที่ไป และ สาเหตุของอาการติดเกม และ ควรจะทราบเกี่ยวกับสัญญาณเตือนการติดเกมของเด็ก เพื่อที่เราจะได้ใช้สังเกตเด็กๆ ที่ดูแล และ มีวิธีจัดการและป้องกันเพื่อให้ลูกเล่นเกมโดยที่ไม่ติดเกม
สัญญาณที่เป็นตัวบอกว่า อาจจะติดเกมแล้ว ได้แก่
√ หมกมุ่นกับการเล่นเกมมาก เวลาว่างส่วนใหญ่หมดไปกับเกม
√ ไม่สนใจ หรือ เลิกทำกิจกรรมที่เคยชอบอื่นๆ
√ ควบคุมตัวเองให้เล่นในเวลาที่กำหนดไม่ได้ ใช้เวลาในการเล่นเกมนานติดต่อกันหลายๆชั่วโมง หรือ เล่นนานขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมไม่ กี่ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มเป็นหลายๆ ชั่วโมงต่อวัน
√ ถ้าถูกบังคับให้เลิกเล่น จะต่อต้าน หงุดหงิด ไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนถึงขั้นก้าวร้าวเวลาไม่ได้เล่นเกม
√ เล่นเกมจนมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น อดนอน รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
√ มีการละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบหรือกิจวัตรประจำวัน เช่น ไม่สนใจการเรียน หนีเรียน หรือ แอบหนีออกจากบ้าน เพื่อไปเล่นเกม การเรียนตก ไม่เข้าสังคม เสียสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ฯลฯ
√ มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ดื้อ ต่อต้าน แยกตัว เก็บตัว พูดจาหยาบคาย โกหก ลักขโมย (เพื่อนำเงินไปเล่นเกม) ฯลฯ
ความสัมพันธ์ในครอบครัว "ยาชั้นดี" ป้องกันเด็กติดเกม
ส่วนใหญ่เด็กที่ติดเกม สาเหตุที่มักจะพบก็คือ ปัญหาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ตามใจหรือใจอ่อน ขาดการควบคุมเรื่องระเบียบวินัย บางครั้งพ่อแม่ใช้เกมเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลเด็ก เพราะคิดว่าให้เด็กเล่นเกมก็สบายดี อย่างน้อยก็ไม่ไปซนนอกบ้าน ตรงนี้ถ้าพ่อแม่สามารถให้ระเบียบวินัยที่ชัดเจน มีข้อตกลงชัดเจนก่อนที่จะให้เด็กเล่นเกม เด็กก็สามารถควบคุมตัวเองได้ ตรงนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่
ที่พบบ่อยมากๆ ในครอบครัวของเด็กติดเกมก็คือ 'ปัญหาสัมพันธภาพที่ไม่ค่อยดีระหว่างเด็กและพ่อแม่' เช่น ความห่างเหิน ไม่มีเวลาให้ มีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย คุยกันไม่เข้าใจ เด็กมีความเครียด จึงหาทางออกด้วยการไปเล่นเกม เมื่อสัมพันธภาพไม่ดี เวลาพ่อแม่จะแนะนำตักเตือนเด็กเรื่องเล่นเกม เด็กก็มักจะไม่ค่อยฟัง มีแนวโน้มต่อต้าน
หากสงสัยว่าลูกอาจจะติดเกม ควรจะจัดการแก้ไขโดยเร็ว พาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในกรณีที่มีอาการติดเกมรุนแรง การบำบัดรักษาในโรงพยาบาลในรูปแบบของ Digital detoxification คือ การแยกเด็กให้ออกห่างจากเกม จนกระทั่งเด็กหายจากอาการถอนเกม เช่น อาการทางจิตใจ อารมณ์ ที่ผิดปกติ เช่น หงุดหงิด โวยวาย ก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น การรักษาจริงจังมีความจำเป็น และ ต้องดูว่ามีโรคทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วยหรือเปล่า บางครั้งอาจจะต้องรักษาด้วยการรับประทานยาร่วมด้วย
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเด็กติดเกมให้ดีขึ้น ไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเปลี่ยนและปรับกันทั้งคู่ ทั้งเด็กและพ่อแม่ รวมถึงคนรอบข้างที่บ้านและที่โรงเรียน ปัญหาต่างๆ น่าจะเริ่มต้นแก้ไขด้วย ‘ความเข้าใจร่วมกัน' ซึ่งจริงๆ แล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเราที่อยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะในการที่พ่อแม่จะป้องกัน และ แก้ไขปัญหาการติดเกมของลูกๆ
...........................................................
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจาก
Thai PBS NEWS
ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี HealthyBrain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์ อาหารบำรุงสมอง