กรมสุขภาพจิตเผย เด็กไทยเป็น โรคดื้อต่อต้าน

กรมสุขภาพจิตเผย เด็กไทยเป็น

"กรมสุขภาพจิต" เผย เด็กไทยเป็น โรคดื้อต่อต้าน เมินกฎระเบียบ !! หากถูกดุด่าหรือลงโทษ จะเพิ่มความก้าวร้าว แนะพบจิตแพทย์เด็ก

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ว่า ขณะนี้การเข้าถึงบริการของเด็กที่เป็นโรคจิตเวช โดยเฉพาะ โรคสมาธิสั้น และ โรคออทิสติก ดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่ใน 2 อันดับแรกที่เข้ารักษาที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด แต่มีโรคจิตเวชอื่นๆ โดยเฉพาะ โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน ( Oppositional Defiant Disorder ) ซึ่งเด็กจะมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม มีนิสัยดื้อต่อต้านไม่ฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่าย ในระดับที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเป็นประจำ แต่ยังเข้ารับบริการน้อย

ขณะที่ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต ในกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ครั้งล่าสุดปี 2559 พบเด็กป่วยเป็น โรคดื้อต่อต้าน ร้อยละ 2 หรือ มีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 ส่วนเด็กหญิง พบร้อยละ 1.7  ซึ่งโรคนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุ ร่วมกันทั้งตัวเด็กเอง ที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อน และ สภาพแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี  ใช้ความรุนแรง  การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่  ที่น่าเป็นห่วงพบว่า ยังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิดๆ คิดว่าเด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา โดย ให้การดูแลตามความเชื่อ คือ

1. ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง

2. ไม่ขัดใจลูก เพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน

3. ลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย

4. ส่งไปอยู่กับญาติ หรือ ส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เพื่อดัดนิสัย ซึ่งความเชื่อทั้งหมดนี้ ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น
 

แต่ล้วนทำให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านแย่ลงไปอีก จึงขอให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจประเมิน หรือ โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง 

"แม้โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กดีขึ้น คือ การปรับแก้พฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กให้น้อยลง ซึ่งครอบครัวมีความสำคัญที่สุด โดยได้รับคำแนะนำจากทีมสหวิชาชีพ ในการปรับลดพฤติกรรมอย่างถูกวิธี และ ทำให้เด็กหายป่วย" อธ.กรมสุขภาพจิต ระบุ

ด้าน "พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง" ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า  จากผลวิเคราะห์เด็กที่เข้ารับบริการ  พบว่า เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม เช่น โรคดื้อ เข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 2 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มี เฉลี่ยวันละ 30-40 คน สำหรับพฤติกรรมดื้อตามวัยนั้น พบได้ในเด็กปกติช่วงอายุ 2-3 ปี  เมื่ออายุมากขึ้นอาการดื้อจะหายไป  แต่ในโรคดื้อนี้ จะมีการแสดงออกรุนแรงมากขึ้น อารมณ์ไม่ดีต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป 

โดยลักษณะอาการเด่นๆ ของเด็กที่เป็นโรคดื้อ จะมี 8 อาการ คือ 

1. แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา

2. เถียง หรือ ชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ

3. ท้าทาย และ ฝ่าฝืนคำสั่ง-กฎเกณฑ์บ่อย ๆ

4. ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ

5. โทษ หรือ โยนความผิด ให้คนอื่นบ่อย ๆ

6. หงุดหงิด และ อารมณ์เสียง่าย

7. โกรธ และ ไม่พอใจ บ่อย ๆ

8. เจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาตพยาบาท

หากผู้ปกครองพบว่า ลูกมีอาการที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อบำบัดพฤติกรรม  ซึ่งต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ได้แก่ การทำจิตบำบัด ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ ควบคู่กับ การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัว หรือ ที่เรียกว่า ครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว  ฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง   รวมทั้ง ร่วมมือกับครูที่โรงเรียนในการดูแล และ ช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย

"การลงโทษที่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน  คือ การลงโทษด้วยการทุบตีอย่างรุนแรง หรือ ด่าว่า ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก  ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และ หากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อโตขึ้น เด็กจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงมากขึ้น ก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการเสพและติดสารเสพติดได้ง่าย " พญ.กุสุมาวดี ระบุ

ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ กล่าวย้ำด้วยว่า ผลของการรักษา ขึ้นอยู่กับ การปรับตัวของเด็ก และ การดูแลของผู้ปกครองและครูร่วมกัน โดยพบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 4 ที่ได้รับการรักษาแล้วจะหายขาด ที่เหลืออีก 3 ใน 4 หากครอบครัวมีความเข้าใจ และ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว จะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมในด้านดีมากขึ้น สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไป

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน มักจะมีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคนั้นๆ ก็จะช่วยให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านดีขึ้น

                  ...........................................................

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจาก

thaihealth.or.th

ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี HealthyBrain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์  อาหารบำรุงสมอง

ปรึกษาปัญหาเด็กแอลดี/สมาธิสั้น
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์
โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 412,451