จะเสริมความมั่นใจให้เด็กสมาธิสั้น ได้อย่างไร

       เด็กสมาธิสั้นมักจะทำงานไม่ค่อยสำเร็จ ทำให้ถูกดุถูกว่าเป็นประจำ จนหมดความมั่นใจ และมีภาพลักษณ์ของตนเองที่ไม่ค่อยดีนัก มองว่าตนเองเป็นเด็กไม่ดี ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ทำให้เริ่มขาดแรงจูงใจในการเรียน ไม่อยากเรียน ไม่ทำการบ้าน และเริ่มเสาะแสวงหาช่องทางอื่นๆที่จะเสริมความมั่นใจอย่างไม่เหมาะสม เช่น แกล้งเพื่อน เถียงพ่อแม่และคุณครู ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ และในที่สุดก็กลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าว รุนแรง
 
       การสร้างเสริมความภูมิใจให้เด็กจึงมีความสำคัญมาก ที่จะดึงเขากลับสู่เส้นทางที่เหมาะสม สามารถทำได้โดยเริ่มจากการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเด็กเอง ให้มีภาพการทำงานที่สำเร็จเสร็จตามมอบหมาย โดยต้องคอยประกบ ให้คำแนะนำ และช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดในช่วงแรก แบ่งงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ และติดตามเป็นระยะ ให้กำลังใจ ให้คำชม และให้รางวัลตามความเหมาะสม
 
      เมื่อเด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ ก่อความเสียหาย ไม่ควรตำหนิว่าเด็กนิสัยไม่ดี แต่ควรจะเตือนและสอนอย่างสม่ำเสมอว่าอะไรไม่เหมาะสม และสิ่งที่ควรทำคืออะไร เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ไขด้วยตนเอง ถ้าเห็นว่าควรทำโทษ ก็ทำโทษอย่างเหมาะสม ไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรง
 
      นอกจากนี้ ควรมองหาจุดเด่น และความสามารถของเด็กในด้านอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจ เช่น ดนตรี กีฬา หรือศิลปะ หรือส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกในสิ่งที่ดีๆ เช่น มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยคุณครูแจกสมุด ลบกระดาน หรืองานมอบหมายพิเศษอื่นๆ
 
      โดยสรุปคือ พยายามเพ่งเล็งหาสิ่งที่ดีในตัวเด็ก และแสดงให้เขารู้ว่าเราเห็นและชื่นชมในสิ่งที่เขามี ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่คอยจับผิด หรือตำหนิในสิ่งที่เขาทำไม่ดี แต่ควรแนะนำว่าเขาควรแก้ไขใหม่อย่างไร ควรช่วยเหลือสร้างภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จให้มีในตัวเด็ก สิ่งเหล่านี้จะสร้างความภูมิใจในตัวเด็ก และเป็นจุดเริ่มต้นที่เด็กจะพยายามแก้ไข และควบคุมตนเองในหนทางที่เหมาะสม


 
      ได้ชื่อว่าเป็นพ่อแม่ของลูกสมาธิสั้น หรือสมาธิบกพร่อง คงต้องรับบทหนักกันหน่อย เพราะเด็กในกลุ่มนี้จะมีความบกพร่องในการใส่ใจ การคงสมาธิ ทำให้วอกแวก อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น วู่วาม หรือทำอะไรโดยไม่ทันได้คิด จึงมักประสบอุบัติเหตุจากความซน และความไม่ระวังของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง มาถึงตอนสุดท้ายของบทความนี้แล้วว่า เราจะดูแลลูกของเราไปนานแค่ไหน จะหายได้ไหม..?
 
     เมื่อผ่านช่วงวัยรุ่น ประมาณ 30-50% ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ และสามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยา ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้นจะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่งถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และมีความสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนหากสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
 
     แต่บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการศึกษาต่อ การงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กสมาธิสั้นที่อาการยังไม่หายเมื่อโตขึ้นจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง
-------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจาก

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และ 
ผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล

ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี HealthyBrain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์  อาหารบำรุงสมอง

ปรึกษาปัญหาเด็กแอลดี/สมาธิสั้น
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์

โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 393,821