เตือน!! ลูกติดหน้าจอ เป็น 'ออทิสติกเทียม'

เตือน!! ลูกติดหน้าจอ เป็น \'ออทิสติกเทียม\' thaihealth

พ่อแม่ไม่สนใจ  ปล่อยลูกไว้กับสื่อหน้าจอนานๆ  แพทย์เตือน ลูกเป็น "ออทิสติกเทียม" พัฒนาการช้า ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซ้ำร้าย อาจนำไปสู่ "โรคซึมเศร้า"

"ปกติลูกอยู่กับย่า วันจันทร์ - ศุกร์ และ วันเสาร์ - อาทิตย์ จะอยู่กับพ่อแม่  ช่วงลูกติด(หน้าจอ) หนักมาก  ก้าวร้าว  พูดด้วยก็ไม่หัน  จนเราลบเกม  ปิดเน็ต  แต่ปัญหายังไม่จบ เพราะ ย่ายังปล่อยให้เล่น จนมีอยู่อาทิตย์หนึ่ง เราเห็นความผิดปกติ ตาลูกกะพริบตลอดเวลา เราเลยบอกย่า ห้ามลูกเล่นมือถือเด็ดขาด เราเลยพาไปทำกิจกรรมข้างนอกมากขึ้น"  คุณแม่ท่านหนึ่งเล่าเป็นอุทาหรณ์เกี่ยวกับการให้ลูกใช้เวลาอยู่กับสื่อหน้าจอนานๆ

นี่คือเรื่องราวอุทาหรณ์ของคุณแม่ท่านหนึ่ง ที่ทิ้งลูกไว้กับย่า ให้เด็กอยู่กับหน้าจอ จนเข้าข่ายเสี่ยงเป็น "ออทิสติกเทียม"  พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จิตแพทย์ และ รองอธิบดีกรมอนามัย เพื่อชี้แจงเรื่อง ออทิสติกเทียม และ แนะแนวทางการรักษา โดยกล่าวว่า "ออทิสติกเทียม" นั้น ไม่ใช่โรค  แต่คือคำที่เราใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เด็กบางคนไม่ได้เป็นโรค ออทิสติก แต่ว่าด้วยกลไลการเลี้ยงดูที่เป็นปัญหา จะทำให้เด็กคนนั้นถูกเข้าใจว่าเป็น โรคออทิสติก  ดังนั้นจึงเรียกว่า "ออทิสติกเทียม" แพทย์หญิงช่วยยืนยันว่า ออทิสติกเทียม เกิดจากการใช้เทคโนโลยีของลูก  ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากพฤติกรรม  ไม่ได้เป็นมาจากพันธุกรรมอย่าง ออทิสติก แท้

"ลักษณะการแสดงออกของเด็กออทิสติกเทียม ก็จะคล้ายๆ ออทิสติกแท้  คือ จะไม่สนใจ  จะไม่มองหน้าใคร  ไม่สนใจจะพูดคุยกับใคร  หรือ อาจจะพูดช้ากว่าวัย  อาจจะไม่มีทักษะทางสังคมอย่างที่ควรจะเป็นเลย  แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากสมองของเด็ก  ไม่ได้เกิดจากตัวโรค แต่กลายเป็นเพราะ การเลี้ยงดู เช่น การที่ปล่อยให้เด็กอยู่ติดหน้าจอ  ไม่ว่าจะเป็น จอทีวี จอแท็บเล็ต หรือ จอโทรศัพท์ นานๆ  ทำให้เด็กหันมาสนใจเฉพาะกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้า และเรื่องที่สามารถดึงดูดเขาได้ และ เด็กเองก็ไม่สามารถถูกฝึกให้เรียนรู้ เลียนแบบ หรือ มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้"

ที่น่ากังวลก็คือ ดูเหมือนว่าเด็กยุคใหม่จะมีโอกาสเป็น "ออทิสติกเทียม" กันมากขึ้น  ส่วนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่ เพราะว่าในยุคปัจจุบัน เมื่อเลี้ยงลูกเองก็ปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอ เพราะรู้สึกว่า เด็กอยู่นิ่ง  ควบคุมง่าย  ดูแลง่าย  ที่แย่ไปกว่านั้นคือ พ่อแม่ก็เป็นคนที่อยู่กับสังคมก้มหน้าเช่นกัน  จึงส่งผลให้เด็กกลายเป็นออทิสติกเทียม เพราะ เทคโนโลยี   ยิ่งไปกว่านั้น หากปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอนานๆ  นอกจากจะทำให้พัฒนาการของเด็กจะช้าแล้ว ยังส่งผลกระทบทั้งด้านจิตใจและอารมณ์ด้วย เพราะเด็กๆ มีธรรมชาติที่ควรต้องเติบโตบนพื้นฐานความรัก และ การดูแล  การที่เขาถูกละเลยเท่ากับว่า เขากำลังถูกทอดทิ้งอยู่ จนอาจนำไปสู่ "ภาวะซึมเศร้า"

"เด็กก็จะเติบโตมาเป็นเด็กที่แปลกแยก  เข้ากับสังคมได้ยาก และ ก็รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า ไม่เป็นที่รัก และ ผลที่ตามมาก็คือ จะรักคนอื่นไม่เป็นด้วย  ดังนั้นก็จะง่ายต่อการเป็นเด็กที่เกิดปัญหาทางจิตใจ หรือ โรคทางอารมณ์ทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ดูก้าวร้าว  ควบคุมตนเองได้น้อย  มีพฤติกรรมติดอยู่กับสิ่งยั่วยุต่างๆ ได้ง่าย เพราะไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่ช่วงอายุน้อยๆ ของเขา

ข้อมูลจากหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า เด็กที่ถูกทอดทิ้งอยู่หน้าจอนานๆ โดยปราศจากการเหลียวแลใส่ใจจากผู้ใหญ่ หรือว่า คนที่เริ่มติดสื่อหน้าจอตั้งแต่อายุน้อยๆ กลุ่มนี้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเป็น "ภาวะโรคซึมเศร้า" เมื่อโตขึ้น  มากกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงมาอย่างสมบูรณ์ทั้งกายและใจ  เพราะมีความใกล้ชิดพ่อแม่และคนรอบข้าง"

 

4 หนทางเยียวยา รักษาลูกให้เป็นปกติ

มีการพบว่า เด็กได้สัมผัสกับสื่อหน้าจอตั้งแต่อายุยังน้อยๆ  เพราะเทคโนโลยีถูกลงเข้าถึงง่ายขึ้น อีกทั้งหลายๆ ครอบครัวก็ยังเข้าใจผิดด้วยซ้ำว่า  การดูจากหน้าจอจะพัฒนาให้เด็กเรียนรู้และฉลาด  ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะ เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เราไม่ควรให้เด็กใช้อุปกรณ์เหล่านี้ และ ยิ่งการใช้ตามลำพัง ยิ่งเป็นข้อห้ามเลยเด็ดขาด

ในการรักษาเบื้องต้นสำหรับพ่อแม่ก่อนถึงมือแพทย์  สำคัญที่สุด คือ การสังเกต และ การตระหนักถึงสภาพปัญหา  ถ้าพ่อแม่ทำได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะจะทำให้เด็กได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที และ นี่คือแนวทางการรักษาที่รองอธิบดีกรมอนามัย ช่วยวิเคราะห์เอาไว้

"การรักษาเด็กกลุ่มนี้ คือ เมื่อใดก็ตามที่เขาถูกทอดทิ้งในเชิงการใส่ใจ และ ดูแล  กระบวนการรักษาที่สำคัญก็คือ การใช้ยาใจจากพ่อแม่นั่นเอง โดยการใช้เวลาระหว่างพ่อแม่ และ ก็ตัวเด็กให้มากขึ้น  ไม่ใช่การนั่งอยู่ด้วยกันเฉยๆ แต่เป็นการนั่งคุยกัน เล่นกัน"

เบื้องต้นถ้าหากเด็กกลายเป็นเหยื่อของการติดหน้าจอไปแล้ว จะเป็นช่วงที่ท้าทายความสามารถและความเข้าใจของพ่อแม่พอสมควร เพราะ ช่วงแรกเด็กจะไม่ใส่ใจพ่อแม่ เนื่องจากถูกเลี้ยงมาแบบนี้นานแล้ว  พ่อแม่ต้องมีความตั้งใจ และ ต้องมีศิลปะในการจูงลูกกลับมาสู่การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

"หากเราไม่ได้เล่นกับลูกมานานแล้ว อยู่ๆจะมาเล่น  ลูกก็ไม่อยากเล่นด้วยแล้ว เราต้องรู้ว่าเด็กวัยนี้ชอบอะไร สนใจอะไร แล้วก็ใช้กิจกรรมที่เด็กชอบ นำลูกเข้าสู่กระบวนการดูแลที่ถูกต้องตามวัยของเขา  แต่ว่าในเด็กบางคน ถ้าอาการรุนแรง ก็อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นกุมารแพทย์ หรือ จิตแพทย์เด็ก เพื่อรับข้อมูลที่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ทันท่วงที"

ทั้งนี้ ข้อจำกัดของพ่อแม่ส่วนใหญ่คือ กลัวเสียงร้องไห้ของลูก เมื่อไม่อยากให้ร้อง ก็รีบตอบสนอง ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด ตรงกันข้ามควรให้เด็กเรียนรู้อารมณ์โกรธ อารมณ์โมโห ถูกขัดใจ แต่ต้องทำด้วยวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก โดยสามารถสรุปหนทางเยียวยารักษาเด็ก ตามคำแนะนำของแพทย์ ได้ดังนี้

1. เมื่อลูกร้องต้องการแท็บเล็ต ก็ชวนมาทำกิจกรรมต่างๆ ที่ดึงความสนใจเด็กออกจากหน้าจอได้ เช่น พูดคุย วาดรูป เต้นระบำ พาลูกไปเที่ยวข้างนอก หรือ ชวนเล่นกีฬาง่ายๆ  ซึ่งพ่อแม่ต้องมีความหนักแน่นในการทำอย่างต่อเนื่อง

2. ใช้สื่อหน้าจอกับลูกเล็กเพียงแค่เวลาสั้นๆ  เช่น ชวนดูหนังสือด้วยกัน  แต่ไม่ควรทิ้งเด็กไว้ลำพัง เพราะการอ่านจากหน้าจอไม่เหมือนการอ่านหนังสือที่เป็นเล่ม ที่สามารถทิ้งเด็กไว้ลำพังได้  เมื่อไม่ได้ใช้ แนะนำให้ปิดเลย แล้วให้เขาสนุกสนานกับอย่างอื่นแทน

3. บริหารเวลาในการดูแลลูก ให้ลูกรับรู้ถึงความรักความอบอุ่นเป็นสำคัญ  ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ยาก ไม่ควรให้ใช้แท็บเล็ต แต่ในเด็กโตที่รอคอยเป็น ควบคุมอารมณ์ได้ สามารถใช้แท็บเล็ตได้ แต่ต้องอยู่ในการดูแลของพ่อแม่

4. พ่อแม่มีส่วนช่วยในการเรียนรู้  โดยพิจารณาดูว่า ลูกพร้อมแล้วหรือยังที่จะใช้สื่อหน้าจอ ควรปลูกฝังเรื่องการเคารพเวลา  ให้มีทักษะทางสังคมพร้อม และ ไม่แฝงไปด้วยสิ่งที่ยั่วยุ หรือ ความรุนแรง

ทั้งนี้ แพทย์หญิงยังกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า เทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ร้าย ถ้ารู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ ลูกปลอดภัย พ่อแม่หายห่วง

"ถ้ามีพ่อแม่ช่วยในการเรียนรู้ และ เอื้อประโยชน์  เด็กก็จะได้ประโยชน์จากการใช้สื่อหน้าจอในการเรียนรู้  ควรร่วมกันสร้างเทคโนโลยีนี้ให้สมบูรณ์ลงตัว เพื่อให้เด็กได้ประโยชน์อย่างมากที่สุดในการใช้สื่อหน้าจอ  เพราะ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า อนาคตโลกเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้  เพื่อให้เกิดความเท่าทัน"

--------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และ รูปภาพจากเว็บไซต์

สสส.สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ

th.theasianparent.com

ข้อมูลอ้างอิงจาก manager.co.th

ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์

ปรึกษาปัญเด็กสมาธิสั้น
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์

โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 412,451