6 วิธีแก้เด็กติดจอ ดูแลลูกอย่างไรไม่ให้ติดโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ปัญหาลูกติดมือถือจึงเป็นอีกเรื่องที่พ่อแม่ยุคดิจิทัลหนักใจ ผู้ปกครองจึงควรมี วิธีแก้เด็กติดจอ เพื่อดูแลลูกให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างพอเหมาะ
สมัยนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น โดยเฉพาะพวกโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟท แท็บเล็ตต่าง ๆ ที่แทบจะเป็นอวัยวะอีกส่วนในร่างกายของเราไปแล้ว ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกตัวช่วยให้พ่อแม่ยุคใหม่ใช้เป็นสื่อการสอนให้กับลูก ๆ ได้ แต่อะไรที่มากไปมันก็ไม่ดี หากไม่ระมัดระวัง ลูกอาจจะติดโทรศัพท์มือถือจนลืมสนใจสิ่งรอบข้าง เสี่ยงต่อพัฒนาการด้านการสื่อสาร เสี่ยงสมาธิสั้น แถมยังไม่ดีต่อดวงตาและสมองด้วย เหล่าผู้ปกครองจึงควรมีเทคนิค วิธีแก้เด็กติดจอ เพื่อดูแลไม่ให้ลูกติดหน้าจอมือถือมากจนเกินไป
- อย่าปล่อยให้ลูกเล่นมือถือคนเดียว
เวลาให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือ อย่าคิดแต่จะให้ลูกเล่นเพื่อให้ลูกอยู่นิ่ง ๆ หรือหยุดร้องไห้เท่านั้น ผู้ปกครองควรสอดส่องดูแล และนั่งอยู่กับลูกเวลาเล่นด้วย คอยดูว่าเขาเล่นอะไร มีความเหมาะสมมั้ย อธิบายและให้คำแนะนำกับลูกระหว่างเล่นด้วยเสมอ จะได้เป็นการเสริมพัฒนาการและเรียนรู้ไปในตัว เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ ป้องกันการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ที่อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้
- หากิจกรรมอื่นทำร่วมกัน
นอกจากโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ ถ้าหากลูกเริ่มติดจอมากจนเกินไปแล้ว ให้ลองหากิจกรรมอื่นทำร่วมกันในครอบครัว อาจจะไปเที่ยวข้างนอกบ้าน ไปออกกำลังกายด้วยกัน หรือลองสังเกตจากเกมที่ลูกเล่น แล้วหากิจกรรมที่ใกล้เคียงกับเกมมาเล่นกับลูกแทน เพื่อให้ลูกละสายตาจากหน้าจอ ออกมาสนใจโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น
- ให้เล่นได้ แต่อย่าให้เป็นเจ้าของ
การให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือ ไม่ควรให้ลูกเป็นเจ้าของโทรศัพท์เครื่องนั้นเด็ดขาด เพราะถ้าหากลูกเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของสิ่งนั้นแล้ว เขามักจะโมโหเวลาพ่อแม่สั่งให้หยุดเล่น จนทำให้ไม่สามารถควบคุมการใช้งานของลูกได้เลย ดังนั้นพ่อแม่จะต้องแสดงให้เห็นเลยว่าเป็นเจ้าของอุปกรณ์เหล่านี้อยู่นะ เพียงแต่ให้ลูก ๆ ได้เล่นบ้างในบางเวลาเท่านั้น
- พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
สำหรับพ่อแม่ยุคดิจิทัลนั้น อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะวางโทรศัพท์มือถือไว้ห่างจากสายตา เพราะถ้าพูดตามตรงแล้ว โทรศัพท์มือถือก็เหมือนจะกลายมาเป็นอีกอวัยวะหนึ่งของเราไปแล้ว ใช้ติดต่อสื่อสารหรือทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่หากต้องควบคุมพฤติกรรมของลูกน้อย พ่อแม่ก็ควรจะต้องมีวินัยและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกเสียก่อน นอกจากจะได้แสดงให้ลูกเห็นแล้ว การที่พ่อแม่วางโทรศัพท์มือถือลง ก็จะทำให้มีเวลาไปดูแลลูกมากขึ้นด้วย
- กำหนดเวลาเล่นไม่เกินวันละ 2 ชม.
ผู้ปกครองควรกำหนดเวลาเล่นโทรศัพท์ให้ชัดเจนไปเลย เพื่อเป็นการฝึกระเบียบวินัยให้กับลูกน้อยไปด้วย โดยปกติแล้วไม่ควรให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดทั้งวัน ควรให้ได้แค่วันละ 1 ชั่วโมง และในวันหยุดอาจจะเพิ่มเป็นให้เล่นได้วันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง
- กฎเป็นกฎ อย่าใจอ่อน
พ่อแม่บางคนอาจจะใจดี ตามใจลูก เวลาลูกแอบเล่นเกินเวลาที่กำหนดไว้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยนะ เมื่อหมดเวลาตามข้อตกลงแล้ว กฎก็ควรเป็นกฎ ไม่มีการขอต่อเวลา พ่อแม่ยุคดิจิทัลจะต้องใจแข็งนิดนึง ยึดตามข้อตกลงที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรก ถ้าไม่ทำตามก็ต้องมีทำโทษหรือยึดเครื่องคืนบ้าง ให้เขาเข้าใจว่าพ่อแม่เอาจริง ลูกอาจจะมีหงุดหงิดบ้าง แต่ถ้าเราหัดจนเป็นนิสัย ลูกก็จะมีระเบียบวินัยขึ้นเอง
--------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจากเว็บไซต์
th.theasianparent.com
ข้อมูลอ้างอิงจาก manager.co.th
ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์