เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ควรพบแพทย์ให้อาการดีขึ้นก็จริง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน เช่น วิธีการเลี้ยงดู ซึ่งอาจช่วยปรับพฤติกรรมลูกได้
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกสมาธิสั้น ควรทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรค และ พยายามหาข้อดีเล็กๆน้อยๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ถ้าลูกไม่อยู่นิ่ง กระตือรือร้น อยากทำกิจกรรมตลอดเวลา ก็พาเขาไปเล่นกีฬานอกบ้าน หรือ ถ้าอยู่ที่โรงเรียน ก็ให้ช่วยงานคุณครู เช่น หยิบของให้ เป็นต้น
การดูแลเบื้องต้นที่ผู้ปกครองทำที่บ้านเองได้ทุกวัน เพื่อลดอาการสมาธิสั้นของลูก เช่น
> ไม่ให้ลูกอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานเกินไป เช่น พยายามเลี่ยงไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์หรือเกม พออายุมากกว่า 2 ขวบ ถึงอนุญาตให้เล่นประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
> สร้างวินัยให้ลูก เช่น จัดสรรเวลากิน นอน และ เล่นให้ชัดเจน เพื่อฝึกให้ลูกควบคุมตัวเอง และ รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร
และถ้าจะให้ดีกว่านั้น ก็อาจต้องปรับทัศนคติและพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ดังนี้
1. มีสติและใช้คำพูดเชิงบวก
แทนที่จะทำให้บ้านมีแต่กฎ หรือ มีแต่คำสั่งว่าห้ามทำนู่นนี่ ลองเปลี่ยนมาตามใจลูกดูบ้าง แต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งไว้
ตัวอย่าง
(ผิด) คุณแม่: อย่ากวนตอนคุณแม่กับคุณพ่อคุยกันนะคะ
(ถูก) คุณแม่: รอแป๊บนึงนะคะ แล้วคราวหน้าถ้าหนูอยากคุยกับคุณพ่อคุณแม่ หนูควรจะเรียก “คุณแม่คะ คุณพ่อคะ” ก่อนนะคะ
หรือ
(ผิด) คุณแม่: เลิกงอแงเลยนะคะ
(ถูก) คุณแม่: จะเอาอะไรก็ค่อยๆ พูดดีๆ กับคุณแม่นะคะ
2. ให้คะแนนพฤติกรรมที่ดี
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มักไม่สนใจรางวัลที่ต้องใช้เวลานาน เพราะเขารอให้ถึงเวลานั้นไม่ได้ หรือ ลืมเป้าหมายที่ต้องการไปเสียก่อน
ดังนั้น ควรสร้างแรงจูงใจให้ลูกร่วมมือกับคุณ ด้วยการสะสมรางวัลแบบง่ายๆ เห็นผลลัพธ์ได้ทันที โดยอาจวาดภาพให้เขาเห็นว่า ถ้าสะสมคะแนนถึงเป้าหมายแล้ว จะได้อะไร เช่น ถ้าเล่นกับสัตว์เลี้ยงเบาๆ หรือ นั่งนิ่งๆ บนโต๊ะอาหารได้ตลอดมื้อ เท่ากับ 2 คะแนน และ ถ้าทำได้ 10 คะแนน จะได้การ์ตูนเล่มใหม่ทันที ซึ่งจะได้ผลมากกว่าให้ลูกรอรางวัลนานๆ
3. จับเวลาตอนทำกิจกรรมต่างๆ
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จะถูกสิ่งรอบข้างรบกวนง่าย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวไปโรงเรียน หรือ เสียสมาธิในห้องเรียนก็ตาม ลองจับเวลาเพื่อเตือนลูกว่าตอนนี้ต้องโฟกัสที่งานไหน โดยอาจบอกเขาว่า “ลูกต้องแต่งตัวหรือทำการบ้านหน้านี้ให้เสร็จก่อนเสียงนาฬิกาดังนะคะ”
จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันสังเกตและวางแผนว่า ลูกอดทนและมีสมาธิต่อเรื่องไหนมากน้อยเท่าไร แล้วจัดสรรเวลาให้ลูกทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม
4. จัดสรรให้ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
อย่าออกคำสั่งเป็นชุด กับลูกที่สมาธิสั้น เพราะ พวกเขาทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันไม่ได้ และ การรับข้อมูลทุกอย่างด้วยการบอกเพียงครั้งเดียว ยังยากเกินความสามารถของลูก
เพราะฉะนั้น บอกเขาว่าคุณต้องการให้เขาทำอะไร ณ เวลานั้น ทีละอย่าง เช่น
ก่อนลูกจะเล่นของเล่น: “ถ้าจะเล่นของเล่น ก็ควรปิดทีวีก่อนนะคะ”
ขณะลูกเล่นของเล่น: “เล่นของเล่นทีละชิ้นนะคะ” หรือ “เก็บของเล่นชิ้นแรกให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยเล่นอีกชิ้นนะคะ”
5. เป็นตัวอย่างให้ลูก
ไม่ต้องอธิบายรายละเอียดคำสั่ง หรือ กิจกรรมใหม่ๆ แต่สาธิตหรือทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น และ อธิบายด้วยข้อความที่เข้าใจง่าย รวบรัด และชัดเจน เพราะลูกจะตีความและเข้าใจง่ายกว่า และ ลองทำตามได้
คุณอาจต้องทวนซ้ำข้อความเหล่านั้น แต่ย้ำกับตัวเองเสมอว่า ต้องพูดให้ช้าและชัด เข้าใจง่าย และ ต้องใจเย็น มีสติ ถ้าลูกยังทำตามไม่ได้สักทีก็ต้องอดทน ทำซ้ำให้ลูกเห็นเรื่อยๆ ให้ลูกได้พัฒนาตัวเอง
6. เล่นสนุกอย่างนุ่มนวล
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มักถูกกระตุ้นง่าย เมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนฝูง หรือ คนแปลกหน้าหลายคน ซึ่งอาจวุ่นวายขนาดย่อมๆ เลย
เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ลูกเล่นสนุกตามธรรมชาติของเด็ก การชวนเพื่อนสนิทลูกมาเล่นด้วยกันที่บ้าน อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะ คุณพ่อคุณแม่ดูแลได้ทั่วถึงมากกว่า
7. สร้างมุมหลบภัยให้ลูก
เลือกสักมุมของบ้านเป็นจุดสงบของลูก พยายามให้เป็นพื้นที่เรียบร้อย สบายตา เพื่อช่วยลดความขุ่นเคืองในใจของเขา ถ้าลูกอารมณ์ไม่ดีหรือไม่มีสมาธิ ให้พาเขาไปสงบสติและจัดการอารมณ์ ก่อนจะควบคุมตัวเองไม่ได้
8. ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยจัดการบ้าง
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มักมีวิธีต่อรองที่ชาญฉลาดตามสไตล์พวกเขา การบอกว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ อาจยิ่งทำให้เสียเรื่องไปกันใหญ่ ดังนั้น ลองยอมให้บางพฤติกรรมเกิดขึ้น และ ให้ธรรมชาติเป็นตัวจัดการ นอกจากลูกจะผ่อนคลายแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่เครียดเกินไปด้วย
เช่น ถ้าลูกยืนยันว่าจะไม่กินข้าวกลางวัน เพราะอยากไปวิ่งเล่น ก็ปล่อยให้เขาไปเล่นเถอะ แล้วลูกจะรู้เองว่า ถ้าเกิดหิวขึ้นมาตอนบ่าย ต้องรอจนถึงมื้อเย็นกว่าจะได้กินข้าว แล้วเขาจะเรียนรู้เองโดยธรรมชาติว่า ไม่ควรอดข้าวกลางวัน
และอย่าลืมว่า เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องปรึกษาคุณครูตลอด เพื่อให้ลูกปรับตัวและเรียนพร้อมกับเพื่อนๆได้ เพราะสำหรับเด็กที่สมาธิสั้นแล้ว การปรับพฤติกรรมบางอย่างของคนรอบข้าง และ ตัวเองช่วยเขาได้มาก ทุกฝ่ายจึงสำคัญกับการเยียวยาอาการเด็ก
ซึ่งวิธีรับมือทุกข้อที่กล่าวมา สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกันระหว่างครูและพ่อแม่ได้
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก :
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
poppad.com
aboutmom.com
==========================================
♥ เปิดเทอมนี้ เตรียมความพร้อมต่อ
การเรียนรู้ให้ลูกน้อยด้วย "อเลอไทด์"
√ ช่วยให้ปรับพฤติกรรมลูกได้ง่ายขึ้น