มาดูสัญญาณเตือนของ ‘โรคออทิสติก’ กัน อย่าปล่อยไว้ก่อนจะสายเกินไป

 

   เราอาจเคยเห็นภาวะออทิสติก (Autism) จากตัวเอกในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือ ล่าสุดซีรีส์ พี่น้องลูกขนไก่  ของบ้านเราก็มีตัวละครพี่ยิม เป็นตัวแทนของเด็กที่มีภาวะออทิสติกได้อย่างน่าสนใจ และ เมื่อไม่นานมานี้ แอนิเมชั่นชื่อดัง Sesame Street ก็มีคาแรกเตอร์ใหม่อย่าง จูเลีย — เด็กหญิงผู้มีภาวะออทิสติก ปรากฏตัวในเนื้อเรื่องอีกด้วย

   เด็กที่มีภาวะออทิสติก อาจมีอาการแตกต่างกันหลากหลายรูปแบบ แต่ก็มีลักษณะร่วมคล้ายกันหลายอย่าง เช่น

    √ อยู่ในโลกของตัวเองมาก

    √ สนใจสิ่งแวดล้อมน้อย

    √ เรียกไม่หัน ไม่สบตา ดูเหมือนไม่สนใจใคร

    √ มีปัญหาเรื่องการพูด ใช้ภาษาแปลกๆ

    √ ทำอะไรซ้ำๆ เป็นแบบแผน ที่ไม่ยืดหยุ่น

    √ บางคนอาจมีพฤติกรรมกระตุ้นตัวเองเป็นระยะ เช่น หมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า สะบัดมือ

   และถ้าลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้จนรบกวนการใช้ชีวิต เช่น เข้ากับเพื่อนไม่ได้ สื่อสารไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ห้ามวางใจเด็ดขาด  รีบพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อที่คุณหมอจะได้ประเมินและวางแผนรักษาต่อไป

รู้จักโรคออทิสติก

   โรคออทิสติก หรือ Autism Spectrum Disorder (ASD) เป็นโรคพัฒนาการบกพร่อง ที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ทำให้พัฒนาการด้านสังคม การใช้ภาษา และ ลักษณะพฤติกรรมบางอย่างผิดปกติ เป็นแบบแผนซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งลักษณะดังกล่าวมักแสดงอาการตั้งแต่ยังเล็ก

 

สังเกตสัญญาณเตือนโรคออทิสติก

1. ด้านพัฒนาการทางสังคม

 

   > ในช่วงอายุ 12-18 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กทั่วไปจะสบตา ยิ้ม และ ส่งเสียงพูดคุย แต่เด็กที่เป็นออทิสติก มักไม่สบตาคนอุ้ม หรือ คนที่เล่นด้วย เรียกชื่อก็ไม่หันมอง หน้าตาเฉยเมย ไม่ยิ้มตอบ ไม่หัวเราะ และ ไม่แสดงท่าทีเรียกร้องความสนใจใดๆ แต่ไม่มีความผิดปกติด้านอื่น

   > ไม่กลัวคนแปลกหน้า และ ไม่กลัวการแยกจากพ่อแม่ ไม่แสดงออกถึงความผูกพันกับพ่อแม่เท่าที่ควร

   > ในวัยที่เด็กทั่วไปเริ่มมีการเล่นเลียนแบบ เช่น ป้อนข้าวน้องตุ๊กตา เล่นเป็นคุณครู คุณหมอ แต่เด็กออทิสติก จะไม่เล่นแบบนั้น

   > ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วม และ ตอบสนองต่อคนอื่น

 

2. ด้านพัฒนาการทางการสื่อสาร

 

   > ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตว่า ลูกพูดช้า พูดน้อยกว่าเด็กทั่วไป ในวัยสองขวบ เด็กยังไม่พูดเป็นคำ หรือ พูดเป็นภาษาต่างดาว ที่ไม่มีความหมาย

   > บางคนอาจเคยพูดได้เป็นคำๆ ในช่วงแรก แล้วต่อมา หยุดพูด หรือ ไม่พัฒนาต่อตามที่ควรก็มี

   > ใช้คำพูดไม่สมวัย เช่น ผิดไวยากรณ์  เรียงลำดับคำพูดไม่ถูกต้อง หรือ อาจใช้โทนเสียงผิดปกติ เช่น พูดเสียงสูงหรือเสียงแหลมผิดปกติ ในขณะที่บางคน อาจพูดเสียงทุ้มหรือยานคางผิดปกติเช่นกัน

   > เด็กบางคนพูดภาษาตัวเองที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ บางคนชอบพูดตาม เช่น เมื่อถูกถามว่า "จะไปไหน" เด็กก็ตอบกลับมาว่า "จะไปไหน" หรือ เด็กบางคนอาจพูดไม่เข้ากับสถานการณ์

   > เด็กบางคนมีพัฒนาการทางการสื่อสารดี พูดได้เป็นประโยค เล่าเรื่องได้ แต่ต่อบทสนทนาให้ต่อเนื่องไม่ได้ เช่น พูดแต่เรื่องของตัวเองซ้ำๆ ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ โดยไม่สนใจรับฟังเรื่องของคนอื่น ไม่สนใจคู่สนทนา

   > ไม่เข้าใจคำพูดล้อเล่น หรือ คำพูดเชิงเปรียบเทียบ ที่ไม่ได้พูดความหมายตรงๆ

   > ใช้ภาษาท่าทางไม่ได้ รวมถึงอ่านสีหน้าอารมณ์ของคนอื่นไม่ออก เช่น ไม่แสดงออกทางสีหน้าท่าทาง ไม่รู้ว่าเพื่อนแสดงหน้าแบบนี้คือโกรธ

   > ไม่มองตามเมื่อมีคนชี้นิ้ว และ ไม่ชี้นิ้วบอกความต้องการของตัวเอง หากอยากได้อะไรมักจะทำเอง หรือ จูงมือพ่อแม่ไปยังสิ่งที่ตัวเองต้องการ

 

3. ด้านพฤติกรรม

 

   > เด็กบางคนกระตุ้นตัวเองด้วยการเคลื่อนไหวซ้ำๆ เช่น เขย่งเท้า หมุนตัว สะบัดมือ อยู่ตลอดเวลา

   > เด็กมีความสนใจจำกัด อาจหมกมุ่นกับบางอย่างมากเกินไป เช่น บางคนชอบมองพัดลม ชอบมองสิ่งของหมุนๆ สามารถมองพัดลมได้ทั้งวัน หรือ บางคนชอบส่วนปลีกย่อยหรือผิวสัมผัสบางอย่าง เช่น ล้อรถยนต์ กระดุมเสื้อ

   > มีพฤติกรรมที่เป็นแบบแผนเปลี่ยนแปลงยาก มักชอบทำอะไรตามกิจวัตรเดิม โดยเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย หากเปลี่ยนแปลงเด็กอาจแสดงท่าทีหงุดหงิดหรือกรีดร้องอาละวาดได้ เช่น ต้องกินอาหารแบบเดิมซ้ำๆ ต้องเดินทางด้วยเส้นทางเดิมทุกวัน ต้องทำกิจวัตรแบบเดิมเป็นลำดับขั้นตอนทุกวันและเปลี่ยนแปลงกิจกรรมเหล่านั้นยาก

   > เด็กบางคนอาจมีอาการที่เด่นชัดเพียงสนใจเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ เช่น เรื่องดาราศาสตร์ ไดโนเสาร์ วัดวาอาราม เครื่องบิน หรือวรรณคดีบางเรื่อง

 

เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบหมอ

 

    อายุ 12 เดือน ลูกยังไม่ส่งเสียงชี้นิ้วหรือใช้ท่าทางในการสื่อสาร

    อายุ 16 เดือน ลูกยังไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย

    อายุ 24 เดือน ลูกยังไม่พูดเป็นวลี 2 พยางค์ที่มีความหมาย

    ♥ มีการถอยกลับของพัฒนาการด้านภาษา และ ด้านสังคมในทุกอายุ เช่น ลูกเริ่มพูดแล้วอยู่ๆ ก็กลับไปไม่พูด

   ♥ พฤติกรรมของลูกด้านการสื่อสารหรือทางสังคม การเข้ากับคนอื่น เป็นไปได้ไม่ดี จนรบรบกวนการใช้ชีวิต หรือ มีความยากลำบากในการเข้าร่วมสังคม และ สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น

    มีพฤติกรรม ความสนใจ ที่แคบและจำกัด อย่างที่ยกตัวอย่างด้านบน เช่น เคลื่อนไหวในรูปแบบซ้ำๆ, ยึดติดกับกิจวัตรประจำวันหรือการพูดที่ไม่ยืดหยุ่น, หมกมุ่นกับสิ่งที่เขาสนใจมากเกินไป

    ♥ มีประสาทสัมผัสไวมากเกินไปหรือน้อยเกินไป เช่น ชอบดมหรือสัมผัสวัตถุบางชนิดมากเกินไป ชอบมองแสงหรือวัตถุที่เคลื่อนไหวมากเกินไป

  อาการข้างบนเหล่านี้ส่งผลกระทบให้การทำหน้าที่ การเรียน การเข้าสังคม หรือ ด้านอื่นๆ ในชีวิตเดือดร้อน

  แม้ว่าเด็กๆที่อยู่ใน ภาวะออทิสติก จะดูเหมือนอยู่ในโลกของตนเองเป็นอย่างมาก แต่ก็มีคนจำนวนมากที่อยู่ในภาวะนี้ แต่มีความสามารถด้านอื่นๆ และ ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และ ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีลักษณะพฤติกรรมคล้ายกับที่กล่าวไป ยิ่งต้องรีบพาไปรักษา เพราะถ้ายิ่งฝึกพัฒนาการในส่วนที่เขาบกพร่องตั้งแต่เด็กเร็วเท่าไร ก็จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้เร็ว และ ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้เร็วเท่านั้น

 

 --------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจากเว็บไซต์

หนังสือจิตเวชศิริราช DSM-5
Amarinbabyandkids.com

ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์

ปรึกษาปัญเด็กสมาธิสั้น ออทิสติก
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์

โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 394,140