โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่หากเป็นโรคนี้แล้วอาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงกว่าโรคสมาธิสั้นในเด็ก มาสำรวจกันว่านิสัยของคุณเข้าข่ายโรคนี้ด้วยหรือเปล่า ?

โรคสมาธิสั้น
 
   โรคสมาธิสั้น หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Attention-Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) เป็นภาวะความบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพฤติกรรม ซึ่งหากเกิดในเด็กอาจเรียกอีกอย่างว่า โรคเด็กซน แต่หากอาการของโรคแอบซ่อนจนรอดการรักษามาถึงวัยผู้ใหญ่ โรคสมาธิสั้น อาจส่งผลกระทบกับชีวิต และ ความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ 

   ฉะนั้นเพื่อความแน่ใจ ลองมาเช็กกันหน่อยว่า นิสัยที่เราเป็นอยู่ไม่ได้เข้าข่ายอาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่แน่ ๆ 
 
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

   ที่เคยเข้าใจว่า โรคสมาธิสั้น เกิดได้กับเด็กวัยซนเท่านั้น ขอให้เปลี่ยนความคิดซะใหม่ เนื่องจากวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว หรือ วัยผู้ใหญ่เต็มตัว ก็สามารถเป็น โรคสมาธิสั้น ได้  ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีอาการบ่งชี้ที่ติดตัวมาตั้งแต่ในวัยเยาว์ และ อาการของ โรคสมาธิสั้น นั้นไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาแต่ไม่ต่อเนื่อง จนมีโรคนี้ติดตัวมาในวัยผู้ใหญ่ด้วย
 
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
 

  1. ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นที่มีอาการมาตั้งแต่เด็ก   แต่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อาการของโรคจะถือว่าค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถใช้ชีวิตได้ปกติตามวัย ทว่าก็อาจจะมีอาการของ โรคสมาธิสั้น หลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ขี้หงุดหงิด เครียดง่าย ขี้โมโห หรือ มีเรื่องกับญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมงานบ่อย ๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนงานอยู่เรื่อย รวมทั้งอาจมีนิสัยชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่เคสนี้มักจะสามารถควบคุมตนเองได้พอสมควร หรือ อาจมีความคิดสร้างสรรค์ และ สติปัญญาดีด้วยในบางคน

  2. ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องมาตั้งแต่เด็ก หรือ อาจได้รับความกดดันจากผู้ใกล้ชิด ทำให้มีพัฒนาการที่ช้าลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นผู้มีอารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ต้องประคับประคองอาการผิดปกติเหล่านี้ด้วยยาเป็นประจำ แต่ก็ยังอยู่ในขอบข่ายที่ใช้ชีวิตในสังคมได้ เพียงแต่ควรต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

  3. ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นที่ไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรค  เคสนี้ในวัยเด็กจะดูปกติและฉลาดสมวัย ทำให้ไม่มีใครฉุกคิดว่า พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว อันธพาล ชอบความรุนแรง และ ไม่คิดก่อนทำของผู้ป่วยเป็นอาการของโรค แต่เข้าใจไปว่าเป็นแค่เพียงลักษณะนิสัยปกติเท่านั้น จนในที่สุดก็ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และ อาจเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาชีวิต มีปัญหาการเข้าสังคม และ ไม่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน

เอ้า ! คราวนี้มาสำรวจกันหน่อยสิว่า โรคสมาธิสั้น อาการเป็นยังไง แล้วเราเข้าข่ายป่วยด้วยไหมเนี่ย ?

โรคสมาธิสั้น

 
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ อาการบ่งชี้ที่น่าสงสัยว่าอาจป่วย

  - ใจร้อน โผงผาง
  - อารมณ์ขึ้นลงเร็ว โกรธง่าย หายเร็ว แต่หากโมโหมาก มักมีเรื่องขัดแย้งรุนแรงกับคู่กรณีเสมอ (ถึงขั้นลงไม้ลงมือ)
  - หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ
  - เอาแต่ใจสุด ๆ
  - วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียนหรือทำงาน
  - รอคอยอะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้
  - ชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อม ๆ กัน แต่มักจะทำไม่สำเร็จแม้แต่ชิ้นเดียว

โรคสมาธิสั้น


  - ไม่รู้จักแบ่งเวลา ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลา
  - ชอบผัดวันประกันพรุ่ง
  - นั่งอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้นาน ชอบเขย่าขา ลุกเดินบ่อย ๆ หรือเล่น/คุยโทรศัพท์ แม้ในขณะขับรถก็ตาม
  - เบื่อง่าย ต้องการสิ่งเร้าใจอยู่เสมอ
  - ขาดระเบียบวินัยในตนเอง ห้องหรือที่อยู่อาศัยรกรุงรัง
  - เปลี่ยนงานบ่อย เนื่องจากความผิดพลาดจากการทำงาน หรือปัญหากับเพื่อนร่วมงาน
  - มาสาย ผิดนัดบ่อย ไม่ใส่ใจกับธุระของผู้อื่น เคร่งครัดเฉพาะเรื่องที่ตนสนใจเท่านั้น
  - พฤติกรรมก้าวร้าว มักมีปัญหากับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือ แม้แต่ผู้บังคับบัญชาก็ตาม

โรคสมาธิสั้น


  - ชอบขับรถเร็วมากจนเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุ
  - ชอบใช้จ่ายโดยไม่ยั้งคิด มักสร้างหนี้ต่อเนื่อง
  - คุยโอ้อวดความสามารถของตนเอง
  - ขาดสมาธิจดจ่อ ไม่สามารถรับฟังผู้อื่นพูดนาน ๆ ได้ ส่งผลให้ขาดความรอบคอบในการทำงาน
  - ขี้หลงขี้ลืม
  - ขาดความมั่นใจในตนเอง
  - ชอบโพล่งขึ้นมาดื้อ ๆ ในวงสนทนา ชอบขัดจังหวะ หรือแสดงพฤติกรรมที่ขาดความยั้งคิดมาก่อน
  - ขาดแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใด ๆ ก็ตาม ทำให้มีลักษณะนิสัยจับจด ไม่ประสบผลสำเร็จในอะไรสักอย่าง

โรคสมาธิสั้น


  - กระสับกระส่าย มีอาการวิตกกังวลแม้แต่กับเรื่องเล็ก ๆ
  - ติดแอลกอฮอล์ หรือมีประวัติใช้สารเสพติด
  - มีแนวโน้มหย่าร้าง เนื่องจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว

  อย่างไรก็ดี การวินิจฉัยของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ อาจทำได้ยาก เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค โดยจะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นในชีวิต เช่น ต้องเปลี่ยนงานบ่อยจนน่าผิดสังเกต มีปัญหาการเข้าสังคมอย่างรุนแรง และ ปัญหาเหล่านี้ต้องผลักดันให้ผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์  ทว่าหากผู้ป่วยมีประวัติการป่วยตั้งแต่วัยเด็ก กรณีนี้อาจนำไปสู่การบำบัดรักษาที่ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ

   ทว่าหากลองสำรวจแล้วพบว่ามีอาการตรงกับลักษณะนิสัยของตัวเองมากเกินครึ่งหนึ่ง แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวิเคราะห์อาการและหาทางออกจะดีกว่า

โรคสมาธิสั้น


โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ การรักษายังทำได้ไหม ?

  แม้ส่วนมาก โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ จะเป็นผลกระทบจากอาการของโรคในวัยเด็ก ทว่าหากรู้ทันอาการ และ ได้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว การรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ก็ยังถือว่าไม่สายเกินไป โดยการรักษาโรคสมาธิสั้น ควรต้องอาศัยการรักษาแบบผสมผสานด้วยวิธีการหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

1. ปรึกษาจิตแพทย์

  การรักษาในขั้นนี้จะเน้นไปที่การปรับทัศนคติ การปรับพฤติกรรม ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยเองด้วย โดยอาจทำความเข้าใจกับครอบครัวของผู้ป่วยไปพร้อม ๆ กับการบำบัดคนไข้  ให้ครอบครัวและคนใกล้ชิด เข้าใจโรคและอาการของโรค พร้อมทั้งแนะนำให้ช่วยกันประคับประคองผู้ป่วยอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

2. การรักษาด้วยยา

  แพทย์อาจเลือกให้ยารักษาอาการซึมเศร้า ยากระตุ้นทางจิตเวช ยาต้านอัดรีเนอร์จิด หรือ ยาทางจิตเวช ซึ่งต้องผ่านการวินิจฉัยว่า ยาชนิดไหนจะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยต่อคนไข้ ใช้ง่าย และมีผลข้างเคียงน้อย

3. ติดตามอาการของผู้ป่วย

  เนื่องจาก โรคสมาธิสั้น เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง จึงควรมีการรักษาและติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยในกรณีใช้ยารักษา ควรมีการติดตามประเมินผลข้างเคียงของยา รวมถึงติดตามผลสัมฤทธิ์ของยากับอาการของผู้ป่วยด้วย 

  ซึ่งหากผู้ป่วยไม่มีอาการตอบสนองด้วยดีจากการรักษา ในรูปแบบไหนก็ตาม แพทย์ควรประเมินผู้ป่วยซ้ำ และ พิจารณาให้การรักษาเพิ่มเติม เช่น รักษาโรคที่พบร่วมกับ โรคสมาธิสั้น (อาจเป็นโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น) ไปพร้อม ๆ กับรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัดหรือครอบครัวบำบัด ทว่าหากยังไม่เห็นผล กรณีนี้อาจต้องส่งต่อผู้ป่วยไปให้ถึงมือผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสม

  อย่างไรก็ตาม โรคสมาธิสั้น ไม่ได้เป็นโรคที่น่ากังวล และ อยากให้คิดไว้เสมอว่า คนที่เป็นโรคสมาธิสั้น ยังสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างคนปกติ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยเองก็ควรต้องยอมรับความจริง และ ยอมเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วย

 

 --------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจากเว็บไซต์
Amarinbabyandkids.com

ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์

ปรึกษาปัญเด็กสมาธิสั้น
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์

โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 394,054