เทคนิคดูแลเรื่องการเรียนเมื่อลูกน้อยสมาธิสั้น
เด็กที่มีอาการสมาธิสั้น มักมีปัญหาด้านพฤติกรรม และ การเรียนรู้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ สามารถช่วยส่งเสริมลูกน้อยในเรื่องของการเรียนได้ ด้วยหลักปฏิบัติง่ายๆ เพียง 3 ข้อ ได้แก่ ดูแลลูกเรื่องทำการบ้าน ดูแลลูกเรื่องเข้าสังคม และ ดูแลลูกเรื่องพฤติกรรม
การดูแลเด็ก สมาธิสั้น
1. ดูแลลูกเรื่องทำการบ้าน
เด็กที่ สมาธิสั้น มักมีปัญหาเรื่องการทำการบ้านและการจัดลำดับความสำคัญ ขาดสมาธิ วอกแวก ไม่จดจ่อ บางครั้งก็เหม่อลอย ทำให้ทำงานช้า ทำงานไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด ไม่มีความรอบคอบ และทำงานไม่เรียบร้อย เป็นต้น สิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่นั้นสามารถช่วยลูกสมาธิสั้นได้ คือ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
- จัดตารางเวลาในชีวิตประจำวันให้ลูกน้อยอย่างเหมาะสม ด้วยการพูดคุยทำข้อตกลงกันให้ชัดเจน เช่น เรื่องเวลาตื่นนอน อาบน้ำ รับประทานอาหารเช้า ไปโรงเรียน และทำการบ้าน เป็นต้น
- ให้ลูกน้อยเตรียมอุปกรณ์ในการทำการบ้านให้พร้อม เช่น ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด รวมทั้งสถานที่ทำการบ้าน ต้องสงบเงียบ ไม่มีเสียงรบกวน หรือสิ่งต่างๆ ที่มาทำให้ไขว้เขว เสียสมาธิ แนะนำให้ลูกน้อย แบ่งงาน หรือการบ้านออกเป็นส่วนๆ หรือเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ลูกรู้จักเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง และทำงานทีละอย่าง โดยสิ่งไหนต้องทำให้เสร็จก่อนคือสิ่งแรกที่ให้ลูกลงมือทำ
- ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น และลองให้ลูกทำตาม ถ้าลูกน้อยสงสัยเรื่องการบ้าน หรือทำไม่ได้ คุณพ่อ คุณแม่สามารถสอน และแนะนำให้ลูกน้อยเข้าใจ และคอยดูแลอยู่ข้างๆ เสมอ
2. ดูแลลูกเรื่องเข้าสังคม
เด็กที่สมาธิสั้น มักมีปัญหาด้านการเข้าสังคม อาจมีการเล่นที่รุนแรง เสียงดัง และพูดมาก ชอบแกล้ง ชอบแหย่เด็กคนอื่นๆ หรือชอบชวนเพื่อนคุยอยู่ตลอดเวลา คุณพ่อ คุณแม่ สามารถฝึกให้ลูกน้อยตอบสนองต่อสังคมอย่างถูกต้อง เพื่อให้ลูกสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนในห้องเรียน และรับมือกับสถานการณ์ที่มีการแข่งขันได้ โดย
- ชวนลูกเล่นบทบาทสมมติ หรือจำลองเหตุการณ์เมื่อต้องอยู่กับเพื่อน ในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเป็นการฝึกในการแก้ไขปัญหา และรับมือกับปัญหาอย่างถูกวิธี
- เปิดโอกาสให้ลูกได้เข้าสังคมบ่อยๆ เช่น พาไปเยี่ยมญาติๆ หรือให้ลูกชวนเพื่อนๆ มาเล่นที่บ้าน เพื่อฝึกการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และสังเกตการแสดงออกของลูกน้อย เพื่อแก้ไขได้ตรงจุดยิ่งขึ้น
- พูดข้อดีในตัวลูกให้คนอื่นได้รู้ แต่ไม่ใช่การโอ้อวด และชมลูกบ้างเมื่อลูกเป็นเด็กดี รู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมได้
3. ดูแลลูกเรื่องพฤติกรรม
เด็กสมาธิสั้น มักมีพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่น วอกแวกง่าย อยู่ไม่สุข ชอบท้าทาย และต่อต้าน การฝึกให้ลูกควบคุมตัวเอง ไม่ให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีวิธีคือ
- คุณพ่อ คุณแม่ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก โดยการควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมของตัวเอง ให้ลูกน้อยดูเป็นแบบอย่าง และให้ลูกทำตาม
- ตั้งกฎระเบียบที่ชัดเจน ให้ลูกเข้าใจ และปฏิบัติตาม อาจมีการให้รางวัลเมื่อลูกน้อยทำดี และลงโทษเมื่อลูกทำผิด คำชมถือเป็นรางวัลที่เป็นการให้กำลังใจลูกน้อยอย่างดีที่สุด
- ถ้าจำเป็นต้องลงโทษลูกน้อย ควรทำเมื่อลูกอารมณ์สงบลงแล้ว ค่อยๆพูดถึงสิ่งที่ลูกทำไม่ถูกต้อง และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ทำ อาจลงโทษด้วการงดเรื่องที่ลูกชอบลงบางอย่าง เช่น งดดูทีวี 1 วัน
- แสดงการตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกน้อย เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีโดยทันที เพื่อให้ลูกรู้ว่าสิ่งไหนควรทำ และสิ่งไหนที่ไม่ควรทำ
- ถ้าลูกต้องทำการบ้าน หรือทำกิจกรรมที่ต้องมีเวลาในการใช้สมาธิจดจ่อนานๆ อาจให้เวลาลูกน้อยได้พักบ้าง เพื่อให้ลูกผ่อนคลายลง
- คุณพ่อ คุณแม่อาจสอนลูกน้อย ด้วยการใช้ท่าทางประกอบ หรือให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวร่างกายตาม เพื่อให้ลูกรับรู้ และมีความเข้าใจในการปรับปรุงพฤติกรรมมากขึ้น
เลือกโรงเรียนอย่างไรเมื่อลูก สมาธิสั้น
นอกจากการดูแลลูกน้อยที่มีอาการสมาธิสั้นของคุณพ่อ คุณแม่ และคุณหมอแล้ว โรงเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูก ควรมองหาโรงเรียนที่คุณครูมีความเข้าใจในเด็กที่มีสมาธิสั้น ให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือลูกน้อยอย่างเต็มที่
คุณครูที่เข้าใจเด็กสมาธิสั้น ย่อมรู้ดีว่าควรจะสร้างเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างไร เด็กที่สมาธิสั้นสามารถเรียนในโรงเรียนปกติได้ ไม่จำเป็นต้องแยกเรียนเป็นพิเศษ แต่อาจต้องให้คุณครูคอยช่วยดูแล เลือกตำแหน่งที่นั่งที่สามารถควบคุมเด็กได้ เช่น แถวหน้าสุด และหลีกเลี่ยงการนั่งริมหน้าต่าง หรือประตู
จำนวนเด็กในห้องเรียน ก็มีความสำคัญ ห้องเรียนที่มีเด็กมาก ย่อมกระตุ้นให้เด็กมีการวอกแวกมากยิ่งขึ้น ขาดสมาธิในการจดจ่อในการเรียน เลือกโรงเรียนที่มีสถานที่ และสนามเด็กเล่นที่กว้างพอ จะช่วยให้ลูกได้มีโอกาสเล่น ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมที่หลากหลาย ลดการรบกวน หรือความวุ่นวายจากเด็กคนอื่นๆ
-----------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจากเว็บไซต์
amarinbabyandkids.com
ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์