ความผิดปกติทางการพูด เรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ

การสื่อสาร ไม่ได้หมายถึง การพูดอย่างเดียว แต่รวมถึงท่าทาง การมองหน้ากัน การแสดงสีหน้ากับผู้พูดด้วย ดังนั้น การสื่อสาร จึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ เขาจะใช้การสื่อสารเพื่อบอกเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเขา เช่น เวลาหิวนม เวลาที่ไม่ชอบอะไรแล้วเขาปฏิเสธได้


เด็กที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือการพูด จะมีความยากลำบากในการนำภาษาไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ เขาจะเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน เวลาที่เล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน อาจจะไม่เข้าใจเพื่อน พอไม่เข้าใจเพื่อนมากๆ ทะเลาะกับเพื่อนมากๆ ก็จะไม่อยากเล่นกับเพื่อน ทำให้เขาขาดโอกาสในการพัฒนาด้านการนำภาษาไปใช้ในสังคม

ถ้าเด็กมีปัญหาเสียงพูดไม่ชัด จะทำให้เขาขาดความมั่นใจในการสื่อสาร เพราะ เวลาพูดออกไปแล้วเพื่อนล้อ คนอื่นล้อ ก็จะทำให้เขาขาดโอกาสในการพัฒนาการสื่อสารกับสังคมต่อไป


ลักษณะของความผิดปกติของการสื่อสาร

ความผิดปกติของการสื่อสาร สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ปี ความผิดปกติของการสื่อสาร มีได้หลายประเภท เช่น

   > ความผิดปกติของภาษาที่ล่าช้ากว่าวัย ซึ่งหมายถึง ล่าช้าด้านความเข้าใจภาษา และ การใช้ภาษากับผู้อื่น

   > การพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง ใช้เสียงผิดปกติ

   > ความผิดปกติของการสื่อสารที่มาจากปัญหาการได้ยิน จะทำให้เด็กมีข้อจำกัดในการฟัง และ ใช้การสื่อสารที่ได้ไม่เท่าเพื่อนในวัยเดียวกัน


ความผิดปกติอาจเกิดขึ้นหลังจากเด็กอายุ 1 ปี เพราะ เด็กอาจจะถูกพัฒนามาอย่างที่ไม่สมบูรณ์มากพอ ผู้ปกครองอาจจะไม่ได้กระตุ้นมากพอ หรือ ปล่อยให้เขาเล่นคนเดียวมากเกินไป หรือ อยู่กับพวกหน้าจอสื่อต่างๆ มากเกินไป ทำให้เขาขาดโอกาสในการพัฒนา และ มีพัฒนาการช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน


สาเหตุของความผิดปกติ มีหลายอย่าง

   √ ครอบครัวมีประวัติพูดช้าหรือพูดไม่ชัด ก็จะมีแนวโน้มว่าเด็กก็จะพูดช้าหรือพูดไม่ชัดด้วย

   √ เด็กที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง

   √ เด็กที่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน เช่น มีปัญหาหูน้ำหนวก สูญเสียการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด หรือ ถดถอยในภายหลังได้

   √ ปัจจัยเรื่องบุคลิกภาพของตัวเด็กเอง บางคนเป็นเด็กขี้อาย

   √ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขาดการกระตุ้น เด็กอาจจะขาดแรงจูงใจในการสื่อสาร เพราะว่าไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ หรือ การขาดการกระตุ้นจากการที่ผู้ปกครองไม่ตอบสนองในตอนที่เด็กกำลังสื่อสารอยู่

   √ เด็กเล่นคนเดียวมากเกินไป ก็จะขาดโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง เด็กบางคนเล่นกับตัวเองเป็น 2 บทบาทในคนเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ ควรจะมีผู้ปกครองเล่นด้วยดีกว่า

การสังเกตว่าลูกเริ่มมีปัญหาด้านการสื่อสาร

การสังเกตลักษณะต่างๆ สามารถสังเกตได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี ถ้าเด็กเริ่มเข้าช่วงวัย 1 ปี แล้วยังไม่มีการออกเสียง ยังไม่มีการเล่นเสียง เช่น มามา ดาดา ซ้ำๆ ไม่มีเสียงอะไรออกมาเลย หรือ ไม่มีการเลียนแบบท่าทางที่ใช้ในการสื่อสาร เช่น การใช้มือชี้ การโบกมือลา หรือ เราเรียกชื่อเขาแล้ว เขาไม่หันตาม โดยปกติวัย 1 ปี เขาจะรู้จักชื่อเขาแล้ว ถ้าไม่ตอบสนอง แปลว่าลูกอาจจะมีปัญหา


หลัง 1 ขวบครึ่ง  เป็นต้นไป เด็กควรจะต้องเริ่มพูดแล้ว แต่ถ้าลูกไม่เลียนแบบคำพูดเลย หรือ พูดน้อยมากไม่ถึง 15 คำ ก็ต้องคอยสังเกตไว้ หรือ การทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น สวัสดี  บายๆ ก็ไม่เลียนแบบ ไม่ทำตามเลย ก็ต้องคอยสังเกตไว้ อาจจะเป็นสัญญานเตือนว่า อาจจะมีปัญหาได้


อายุหลัง 2 ขวบ  เด็กควรจะต้องรวมคำเป็นวลีง่าย ๆ เช่น กินนม กินน้ำ หรือ พูดเป็นประโยคแล้ว  ถ้ายังไม่รวมคำ หรือ ไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ ได้ เช่น เอาไหม  กินไหม  ก็ต้องคอยสังเกตเช่นกัน


อายุ 3 ปี  จะเริ่มพูดเป็นประโยคง่ายๆ ได้แล้ว  รวมถึง ตอบคำถามที่ยากขึ้น เช่น เอาอะไร  อันนี้ของใคร  ที่ไหน จะเริ่มตอบได้แล้ว


หลังจากอายุ 4 ปี  จะเริ่มพูดเป็นประโยคยาว เล่าเรื่องราวได้ เช่น เล่าเรื่องที่โรงเรียนได้  บอกในสิ่งที่เขาพบเจอมาได้  และ จะพูดชัดขึ้นหลายเสียง แต่ถ้ายังมีเสียงที่พูดไม่ชัดหลายเสียง  ควรมาปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ดีกว่าปล่อยให้นานแล้ว มีเสียงพูดไม่ชัดเยอะขึ้น แต่บางเสียงในภาษาไทย เช่น เสียง ซ โซ่  อาจจะพูดได้ตอนหลังอายุ 5 ปีขึ้นไป ถ้าเราฟังโดยรวมบางเสียงขณะพูดสื่อสาร  ถ้าฟังชัดเกิน 50% ถือว่าปกติ  แต่ถ้าฟังแล้วไม่ชัด แม้กระทั่งคนใกล้ตัวเองฟังก็ยังไม่ชัดเลย จะต้องมาปรึกษาแพทย์


อายุ 5 ขวบ  จะเริ่มเล่าเรื่องที่ยาวขึ้น รวมถึง ไวยากรณ์ที่ใช้  หลักภาษาไทยจะถูกต้องมากขึ้น ไม่มีการสลับคำ ตอบคำถามที่เกี่ยวกับเหตุผลได้  วัยนี้เป็นวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียนแล้ว ต้องสังเกตว่า เด็กเรียนรู้ช้าไหมเกี่ยวกับเรื่องตัวเลข การจดจำสี หรือ ตัวอักษร 


เด็กบางคนมีโอกาสที่จะมีปัญหาการได้ยินถดถอยในภายหลัง ต้องสังเกตว่า เรียกแล้วหันไหม ดูการตอบสนองเวลาที่เรียกหรือคุยด้วย มันลดลงไหม เพราะอาจจะมีปัญหาในภายหลังได้


วิธีการแก้ไขหรือช่วยเหลือลูก  ถ้าพบว่าบุตรหลานมีปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือการพูด ถ้าพ่อแม่ไม่แน่ใจ ให้มาพบแพทย์พัฒนาการเด็ก หรือ แพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจประเมิน และ ส่งต่อมาให้นักแก้ไขการพูดได้ประเมินพัฒนาการภาษาและการพูด และ วางแผนการฝึกร่วมกับผู้ปกครองต่อไป


เมื่อมาพบนักแก้ไขการพูด ก็จะประเมินก่อนว่า เด็กมีความผิดปกติทางด้านไหน เช่น ผิดปกติด้านความเข้าใจ ผิดปกติด้านการใช้ภาษา หรือเสียงพูดไม่ชัด พอประเมินพบความผิดปกติแล้ว จะทำการวางแผน ฝึกตามพัฒนาการเขา ซึ่งบางอย่างพอมาพบนักแก้ไขการพูด จะใช้ระยะเวลาในการฝึกประมาณ 30 นาที ฉะนั้นจึงต้องใช้วิธีการปรับวิธีการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ให้สามารถนำไปกระตุ้นต่อที่บ้านได้ แล้วนัดพบเพื่อดูว่า ผลการฝึกเป็นอย่างไร พบปัญหาอะไรไหม แล้วก็จะช่วยปรับให้ผู้ปกครองกลับไปฝึกต่อที่บ้าน


รู้เร็ว รักษาได้ ถ้าพบปัญหาแล้ว ยิ่งมาเร็วยิ่งดี เพื่อจะได้ประเมินดูว่า มีความผิดปกติมากน้อยแค่ไหน แล้ววางแผนฝึกกระตุ้นให้เขาพัฒนาการเร็วขึ้น ถ้าปล่อยปละละเลยให้ช้าเกินไป จะทำให้พัฒนาการช้าลงไปด้วย หรือ แม้กระทั่งเรื่องเสียงพูดไม่ชัด หากปล่อยให้ลูกมีเสียงพูดไม่ชัดมากเกินไป บางเสียงอาจจะมีความยากลำบากในการเรียนรู้ให้พูดชัดด้วยตนเอง ซึ่งเด็กจะยิ่งมีปัญหา ขาดความมั่นใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ หรือว่า พูดไม่ชัดมากขึ้นไปเรื่อยๆ


ในเด็กที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการล่าช้า  ถ้าได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม และ ไม่ได้เป็นปัญหาซับซ้อนมาก เขาจะสามารถพัฒนาตามวัยของเขาได้ รวมถึงเด็กที่มีปัญหาเรื่องเสียงพูดไม่ชัดด้วย ถ้าเกิดได้รับการฝึกเสียงที่เหมาะสม ก็จะสามารถชัดได้ตามวัยของเขา


วิธีการเล่นเพื่อเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาการเรื่องการสื่อสาร เด็กจะใช้การสื่อสารด้วยคำพูดมากขึ้นหลังจากอายุ 1 ปี ผู้ปกครองสามารถวางรากฐานได้ โดยการชวนให้เด็กเล่นสมมุติ คือ การเล่นที่เลียนแบบจากชีวิตจริง เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน หวีผม แล้วกระตุ้นให้เขาใช้การสื่อสารผ่านการเล่นพวกนี้ได้ ถามตอบเพื่อให้เขาตอบ พอเด็กเริ่มโตขึ้นหลังอายุ 1 ขวบครึ่งเป็นต้นไป เขาจะเริ่มเอาสิ่งที่พ่อแม่ดูแลมาเล่นสมมุติ อาจจะไม่ใช่ของจริง เอามาเล่นกับตุ๊กตา ซึ่งจะทำให้เรากระตุ้นการสื่อสารได้หลายรูปแบบมากขึ้น ไม่จำกัดเพียงแค่สิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวัน เช่น การนอนหลับ หวีผม ก็กระตุ้นผ่านการเล่นได้

 -------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจากเว็บไซต์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์

ปรึกษาปัญเด็กสมาธิสั้น
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์

โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 412,447