ลูกน้อยสมาธิสั้น มีทางออก
เด็กที่มีสมาธิสั้น หรือ เด็กไฮเปอร์ (ADHD: Attention Deficit Hyperactivity Disorder) อาจทำให้คุณแม่หลายๆ คนเป็นกังวลไม่น้อย จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเขาได้จากหลายๆวิธี
เด็กสมาธิสั้น จะสังเกตเห็นชัดที่สุดตอนอายุ 4-5 ปี ซึ่งก่อนอายุประมาณ 4 ปี เขาอาจจะเป็นเด็กที่ซนมาก เพราะสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ การยับยั้งชั่งใจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ และ จะทำงานเต็มที่เมื่ออายุ 4-5 ปีไปแล้ว
- 1 ใน 3 ของเด็กสมาธิสั้น เมื่อโตขึ้นเขาจะค่อยๆ หายได้เอง
- 1 ใน 3 ของเด็กสมาธิสั้น จะมีอาการดีขึ้น ด้วยการปรับพฤติกรรม และ รักษาด้วยยาที่ดูแลโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
หากคุณแม่เป็นกังวลมาก และรู้สึกว่าลูกสมาธิสั้นผิดปกติ เพราะซน อยู่เฉยไม่ได้ ทำอะไรได้สักพักก็เลิกทำ หุนหัน ไม่อดทน หงุดหงิดง่าย และเจ้าอารมณ์ ลองปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกของการรักษาร่วมกัน ซึ่งหลายๆ คนอาจจะได้ยาเพิ่มสมาธิ ซึ่งเป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย ทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น เพราะการที่เด็กสมาธิสั้นนั้นเกิดจากสมองที่ควบคุมเรื่องสมาธิของเด็กนั่นเอง
เทคนิคแก้ลูกสมาธิสั้นได้
- ฝึกโยคะเด็ก เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เด็กอยู่กับตัวเอง และสามารถฝึกอยู่นิ่งๆ ไม่ซุกซนได้ แรกๆ อาจจะทำไม่ได้แต่ฝึกไปเรื่อยๆ หาท่าใหม่ๆ ให้เด็กได้ใช้จินตนาการ ลูกจะค่อยๆ สนุก และอยู่นิ่งกับโยคะได้
- ฝึกให้ทำอะไรต่อเนื่อง 20-30 นาที โดยไม่ลุกไปไหน อาจจะต่อจิ๊กซอว์ ประดิษฐ์ของเล่น ต่อเลโก้ ถึงจะเป็นพฤติกรรมซ้ำๆ แต่ในรายละเอียดลูกจะได้ทำอะไรแปลกใหม่ไม่ซ้ำกัน คุณแม่อาจนั่งอยู่ใกล้ๆ คอยช่วยและหลอกล่อไปด้วย วิธีนี้จะช่วยให้ลูกอยู่นิ่งๆ ได้สักพัก และอาจจะยาวนานขึ้นในอนาคต
- เข้าคอร์สเพิ่มสมาธิ เดี๋ยวนี้ก็มีคอร์สฝึกช่วยเพิ่มสมาธิให้เด็กๆ โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นระบบ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่อาจจะไม่ค่อยมีเวลา หรือมืดแปดด้านไม่รู้ว่าจะฝึกลูกอย่างไรดี
- ไม่ตามใจ หรือ ปล่อยปละละเลยเกินไป ช่วงแรกๆ อาจจะต้องคอยดูพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิด อย่าเพิ่งเร่งรัดหรือปล่อยมากเกินไป คอยดูอยู่เป็นระยะ อย่าให้ตึงเกินไป ถ้าดูแล้วลูกเริ่มอยู่เฉยไม่ได้ ไม่มีสมาธิ จนเริ่มจะดื้อแล้ว ก็อาจจะให้ลูกไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาฝึกใหม่
- ลดสิ่งเร้ารอบตัว เด็กที่มีสมาธิสั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว บ่อยครั้งที่ลูกมักจะซุกซน อยู่เฉยๆ ไม่ค่อยได้เพราะรู้สึกว่าสนใจสิ่งรอบข้างมากกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ คุณพ่อ คุณแม่อาจลองเปลี่ยนบรรยากาศรอบด้าน เช่นในห้องนอน ควรมีบรรยากาศที่เงียบ สงบขึ้น และจัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ เวลาที่ลูกนั่งทำการบ้านจะได้ไม่มีสิ่งอื่นมาทำให้เบี่ยงเบนความสนใจ
- ฝึกอยู่นิ่ง 3 นาที 5 นาที 7 นาที ชวนลูกเล่นเกมแข่งกับคุณพ่อ คุณแม่ก็ได้ อาจจะเป็นเกมแปลงร่างเป็นก้อนหินแล้วจับเวลา ใครกระดุกกระดิกก่อนแพ้ เริ่มจากสั้นๆ แค่ 3นาที ดูว่าลูกทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาเป็น 5 นาที 7 นาทีตามมา เมื่อเวลาที่ลูกซนมากๆ ก็ให้คุณแม่บอกลูกว่า เรามาเล่นเกมนี้กันเถอะ
- ไม่โทษลูก อย่าเพิ่งลงโทษ และให้อภัยเสมอ คุณพ่อ คุณแม่ต้องเข้าใจว่าเด็กที่สมาธิสั้นไม่ได้เกิดจากนิสัยของลูก แต่เกิดจากสมอง เพราะฉะนั้นเวลาลูกทำอะไรขอให้คุณพ่อ คุณแม่อย่าเพิ่งลงโทษ เรื่องนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป
- ตัวช่วยพิเศษไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือ ศิลปะ ชวนลูกทำกิจกรรมต่างๆ ที่เขาชื่นชอบ ถ้าแรกๆ คุณพ่อ คุณแม่ยังไม่ทราบว่าลูกชอบอะไรเป็นพิเศษ ก็อาจจะชวนเล่นกีฬาง่ายๆ อย่างตีแบด กระโดดเชือก ฯลฯ เล่นดนตรีที่บ้านจากกล่องกระดาษที่มีแทนกลอง หรือแม้แต่การวาดรูป ระบายสี อะไรก็ได้ ถ้าสังเกตว่าลูกชอบอะไรก็ค่อยๆ ให้ทำสิ่งนั้นโดยการเพิ่มเวลาให้มากขึ้น หรือถ้าคุณพ่อ คุณแม่บอกว่าไม่ถนัดเลยจริงๆ เปลี่ยนมาให้ลูกช่วยงานในบ้านแทนก็ยังได้
- ช่วยเตือนความจำลูก อีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่คุณพ่อ คุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นเด็กสมาธิสั้นได้ก็คือ การจดโน้ตเตือนความจำ หรือตั้งนาฬิกาปลุกสิ่งที่ลูกต้องทำ จดโน้ตย่อเวลาสอนหนังสือลูก เพื่อช่วยย่อความสำคัญให้เขาจดจำได้ง่ายขึ้น หรือเด็กบางคนอาจจะต้องใช้การออกเสียงเข้าช่วย
- จัดตารางชีวิตประจำวันให้ชัดเจน ช่วยให้เด็กมีระเบียบวินัยในชีวิตประจำวัน ตื่นนอนช่วงเวลานี้แล้วไปแปรงฟัน อาบน้ำแต่งตัว ไม่ให้เขาทำอะไรตามใจไปเรื่อยๆ ทั้งวัน
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก :
โรงพยาบาลเปาโล
======================================
√ ช่วยให้ปรับพฤติกรรมลูกได้ง่ายขึ้น