โรคสมาธิสั้นในเด็ก จะรักษาได้อย่างไร
โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) คือ กลุ่มอาการผิดปกติทางพฤติกรรมและอารมณ์ โดยผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงอายุ 3-6 ปี อาการจะแสดงออกอย่างชัดเจนและวินิจฉัยได้ในช่วงอายุ 6-12 ปี
มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมองซึ่งมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมของเด็ก กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย
- อาการขาดสมาธิ (attention deficit)
- อาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม (impulsivity)
- อาการซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity)
สาเหตุ
√ จากความผิดปกติของสารเคมีบางชนิดในสมอง เช่น โดปามีน (dopamine) นอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine)เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างสมาธิ
√ จากความผิดปกติในการทำงานของวงจรที่ควบคุมสมาธิ และการตื่นตัว ซึ่งอยู่ที่สมองส่วนหน้า (frontal cortex)
ปัจจัยด้านพันธุกรรม
ปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู เป็นต้น
อาการ
ประกอบปัญหา 3 ด้าน คือ
1. สมาธิสั้นหรือขาดสมาธิ (Attention Deficit)
เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิด เด็กมักจะแสดงอาการเหม่อลอยบ่อยๆ ฝันกลางวัน ทำงานไม่เสร็จ ผลงานมักจะไม่เรียบร้อย ตกๆหล่นๆ ดูเหมือนสะเพร่า ขาดความรอบคอบ เด็กมักจะมีลักษณะขี้ลืม ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ มีลักษณะเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย เวลาสั่งให้เด็กทำงานอะไรเด็กมักจะลืมทำ หรือทำครึ่งๆ กลางๆ อาการขาดสมาธินี้มักจะมีต่อเนื่อง ติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่
2. ซนอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)
เด็กจะมีลักษณะซน อยู่ไม่สุข ยุกยิกตลอดเวลา นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดิน หรือขยับตัวไปมา ชอบปีนป่าย เล่นเสียงดัง เล่นผาดโผน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย มักประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ จากความซน และความไม่ระมัดระวัง พูดมาก พูดไม่หยุด ชอบแกล้งหรือแหย่เด็กอื่น
3. หุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
เด็กจะมีลักษณะวู่วาม ใจร้อน อารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำอะไรไปโดยไม่คิดก่อนล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา ขาดความระมัดระวัง เช่น วิ่งข้ามถนนโดยไม่มองรถดีๆ ซุ่มซ่าม ทำข้าวของแตกหักเสียหาย เวลาต้องการอะไรก็จะต้องให้ได้ทันที รอคอยอะไรไม่ได้ เวลาอยู่ในห้องเรียนมักจะพูดโพล่งออกมาโดยไม่ขออนุญาตครูก่อน มักตอบคำถามโดยที่ฟังคำถามยังไม่ทันจบ ชอบพูดแทรกเวลาที่คนอื่นกำลังคุยกันอยู่ หรือกระโดดเข้าร่วมวงเล่นกับเด็กคนอื่นโดยไม่ขออนุญาตก่อน
การรักษา
มีแนวทางการรักษาที่ต้องใช้ควบคู่กัน ดังนี้
1. การใช้ยาเพิ่มสมาธิ
ปัจจุบันถือเป็นมาตรฐานการรักษา ยาที่ใช้มีความปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อย สามารถช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น สงบขึ้น และควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้ การเรียนดีขึ้น ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น
2. การฝึกฝนการควบคุมตัวเอง
พ่อแม่ควรจัดกิจวัตรประจำวันของเด็ก ให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอตามเวลาที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาตื่นนอน เวลารับประทานอาหาร อาบน้ำ ไปโรงเรียน ทำการบ้าน หรือเข้านอน
นอกจากนี้ควรฝึกฝนให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานที่กำลังทำได้ต่อเนื่อง ประมาณ 20 - 30 นาที โดยเน้นให้เด็กนั่งอยู่กับที่ ทำงานจนเสร็จ โดยไม่ลุกเดินไปไหน ซึ่งในช่วงแรกพ่อแม่ควรควบคุมอย่างใกล้ชิด และคอยช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กทำได้สำเร็จ เมื่อเด็กทำได้พ่อแม่ต้องให้รางวัล อาจเป็นคำชม การกอด ทั้งนี้เพื่อเสริมแรงให้เด็กอยากพัฒนาตัวเองต่อไป และเสริมสร้างให้เด็กรู้จักคุณค่าในตัวเอง
การลงโทษเด็กด้วยวิธีการที่รุนแรง เช่น การตี การดุด่า ตำหนิ เปรียบเทียบ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง การที่พ่อแม่จะช่วยฝึกฝนเด็กได้นั้น จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กสมาธิสั้น พ่อแม่ต้องมีความอดทน ให้โอกาสเด็ก และต้องมีทักษะในการควบคุมอารมณ์ของตนเองเสียก่อน
3. การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม
ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนถือว่ามีความสำคัญมาก โดยสิ่งแวดล้อมต้องไม่กระตุ้นเด็กมากจนเกินไป ควรจัดเก็บของเล่นต่างๆเข้าที่ ให้พ้นจากสายตาเด็ก โดยใส่ตู้ ลิ้นชัก หรือตะกร้า เพื่อไม่ให้เด็กวอกแวก หรือเปลี่ยนความสนใจง่าย เวลาทำการบ้าน ควรจัดมุมที่สงบ ห้องต้องไม่กว้างเกินไป ไม่มีคนเดินไปมาตลอด และไม่ควรเปิดทีวีไปด้วยทำการบ้านไปด้วยพร้อมกัน
4. การสื่อสารกับเด็ก
ควรสังเกตว่าเด็กอยู่ในภาวะที่พร้อม หรือมีสมาธิที่จะให้ความสนใจสิ่งที่กำลังจะพูดอยู่หรือไม่ หากสนใจอยู่ ก็สามารถพูดกับเด็กโดยใช้คำพูดที่กระชับ ได้ใจความชัดเจนทันที หากเด็กกำลังอยู่ในช่วงเหม่อ วอกแวก หรือไม่ได้สนใจ ควรเรียกหรือแตะตัวอย่างนุ่มนวลให้เด็กรู้สึกตัว และหันมาสนใจเสียก่อน จึงสื่อกับเด็ก
ในบางครั้งเพียงใช้การบอก เรียก หรือ อธิบายอย่างเดียว เด็กอาจไม่ฟังหรือไม่ทำตาม ซึ่งอาจจะต้องเข้าไปหาเด็ก และใช้การกระทำร่วมด้วย เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมตาม ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการฝึกให้เด็กรับฟังและปฏิบัติตามผู้ใหญ่ได้ดีขึ้น
5. บทบาทครูผู้สอน
ตำแหน่งโต๊ะเรียนไม่ควรให้เด็กนั่งติดหน้าต่างหรือประตู เพราะเด็กจะวอกแวก เสียสมาธิง่าย ควรให้เด็กนั่งแถวหน้าสุดใกล้โต๊ะครู เพื่อคุณครูจะได้สามารถเตือน เรียกสมาธิเด็กได้ และควรจัดให้เด็กนั่งติดกับนักเรียนที่ไม่ค่อยเล่น ไม่ค่อยคุยในระหว่างเรียน
เมื่อเห็นว่าเด็กหมดสมาธิจริงๆ ควรให้เด็กมีกิจกรรม เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เช่น ช่วงครึ่งหลังของคาบเรียน ควรอนุญาตให้เด็กลุกจากที่ได้บ้าง เช่น ให้เด็กช่วยคุณครูลบกระดาน เป็นต้น
กรณีที่เด็กมีสมาธิสั้นมาก สามารถใช้วิธีลดระยะการทำงานให้สั้นลง แต่ทำบ่อยกว่าคนอื่น โดยเน้นในเรื่องความรับผิดชอบ และความสามารถในการทำงานให้สำเร็จ
เมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ควรลงโทษรุนแรง แต่ควรห้ามปราม เตือน และสอนอย่างสม่ำเสมอ ว่าพฤติกรรมใดไม่เหมาะสม และพฤติกรรมที่เหมาะสมคืออะไร เปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ไขด้วยตนเอง เช่น เก็บของเข้าที่ใหม่ ชดใช้ของที่เสียหาย
ในการให้ความช่วยเหลือด้านการเรียน ใช้คำอธิบายง่ายๆ สั้นๆ พอที่เด็กจะเข้าใจ และให้ความสนใจฟังได้เต็มที่ ซึ่งหากมีการสาธิตตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม จะช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายกว่าคำพูดอธิบายอย่างเดียว
6. พยายามมองหาจุดเด่นและความสามารถของเด็กในด้านอื่นๆ
เพื่อส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจ เช่น ดนตรี กีฬา หรือศิลปะ หรือส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกในสิ่งที่ดีๆ เช่น มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยคุณครูแจกสมุด ลบกระดาน หรืองานมอบหมายพิเศษอื่นๆ
---------------------------------------------------
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์
Honestdocs.co
ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์ อาหารเสริมบำรุงสมอง
เพิ่มสมาธิ เสริมสร้างความจำ สนใจการเรียนมากขึ้น
และช่วยลดความเครียด ปรับอารมณ์ ทำให้มีผลการเรียนดีขึ้นได้