โรคดื้อต่อต้าน โรคแอบแฝงที่ พ่อ-แม่ ไม่รู้

คุณเริ่มรู้สึกรับมือลำบากกับอาการดื้อของลูกอยู่รึเปล่าคะ? ทั้งไม่ฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่ายในระดับที่เกินกว่าเด็กทั่วไป สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเป็นประจำ หากมีอาการเหล่านี้อาจหมายความว่าลูกกำลังเข้าข่ายโรคดื้อต่อต้านแล้วค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เข้าใจว่าเป็นอาการที่แตกต่างกับดื้อปกติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลร้ายต่อลูกในอนาคต วันนี้เราจึงอยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับโรคดื้อต่อต้านให้มากขึ้น จะได้รับมือกับอารมณ์ของลูกได้ค่ะ

โรคดื้อต่อต้านคืออะไร

โรคดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder : ODD) มักแสดงให้เห็นในเด็กอายุ 8 ปี จะพบก่อนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีรูปแบบพฤติกรรมต่อเนื่องของการไม่เชื่อฟังที่แสดงออกด้วยอาการโกรธเป็นหลัก นอกจากนี้ยังไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่และทำตัวเป็นปรปักษ์อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าอาการดื้อจะเป็นธรรมชาติของเด็กที่อายุ 2-3 ขวบเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโต แต่ถ้าเด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้เป็นประจำในระดับที่มากเกินเด็กปกติทั่วไปในวัยเดียวกัน ก็อาจส่งผลกระทบต่อสังคม ครอบครัวและการเรียนของเด็กได้

อาการของโรคดื้อต่อต้าน

หลายครั้งการที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างเด็กที่มีความต้องการที่แน่ชัด เจ้าอารมณ์ และเด็กที่เป็นโรคดื้อและต่อต้านนั้นอาจเป็นเรื่องยาก เมื่อเด็กมีภาวะดื้อและต่อต้าน จะมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนที่ค่อยๆ เกิดขึ้น และอาจแสดงออกรุนแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนหรือปี เด็กอาจเป็นโรคดื้อและต่อต้านหากมีอารมณ์ไม่ดีตลอดเวลาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนจนนำไปสู่ปัญหาภายในครอบครัวหรือที่โรงเรียน ซึ่งเด็กที่เป็นโรคดื้อและต่อต้านจะมีอาการหลักๆ ดังนี้เป็นประจำ

  • มีอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา
  • เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ
  • ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ
  • ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งและกฎเกณฑ์
  • โทษคนอื่นเมื่อเกิดข้อผิดพลาดหรือเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมไม่ดีของตน

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดื้อต่อต้าน

  1. ปัจจัยจากตัวเด็ก คือ การมีพื้นอารมณ์เป็นเด็กที่เลี้ยงยาก สมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์และยับยั้งพฤติกรรมของตนเอง รวมทั้งระบบสารสื่อประสาทและฮอร์โมนมีความผิดปกติ รวมไปถึงความผิดปกติในระหว่างเป็นทารกในครรภ์มารดา และภาวะทุโภชนาการและการได้รับสารพิษบางอย่างก็ส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้

  2. ปัจจัยจากพ่อแม่และครอบครัว อาจเกิดจากการที่พ่อแม่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมในวัยเด็ก จึงทำให้ขาดทักษะในการเลี้ยงดูลูกที่ถูกต้อง นอกจากนี้ความเครียดจากการเลี้ยงดูลูก การทำงานและความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกเกิดโรคนี้ได้ อีกทั้งหากสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคทางจิต ไม่ว่าจะเป็น โรคความผิดปกติทางอารมณ์ โรควิตกกังวล และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เด็กจะเกิดโอกาสเป็นโรคดื้อต่อต้านได้สูง

  3. ปัจจัยจากการเลี้ยงดูและการฝึกวินัย เด็กที่มีพฤติกรรมดื้อ ต่อต้านแล้วก้าวร้าวมักได้รับการเลี้ยงดูในลักษณะที่ทำให้เด็กขาดความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคงต่อพ่อแม่ คือเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยหรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก ตามใจลูกมากเกินไป หรือการเลี้ยงดูแบบไม่สม่ำเสมอคือบางครั้งก้เข้มงวด บางครั้งก็ตามใจ

แนวทางการแก้ไขโรคดื้อต่อต้าน

  1. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก พื้นฐานที่สำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจในตัวลูกใหม่ ทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องใช้เวลาและความรักแก่ลูก

  2. การปรับพฤติกรรม ใช้วิธีการเสริมแรงทางบวกเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ดี คือชื่นชมพฤติกรรมที่ดีของลูก ด้วยการชมให้เฉพาะเจาะจงมากที่สุด เช่น “แม่ชอบที่ลูกเก็บของเล่นเองมาก” รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมของพ่อแม่ด้วยการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในสิ่งที่ต้องการให้ลูกทำตาม หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจกับลูกมากเกินไป ไม่ควรทำโทษที่รุนแรงเกินควร เพราะจะทำให้เด็กดื้อต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น

  3. การเลี้ยงดูและการฝึกวินัย พ่อแม่ควรฝึกวินัยให้ลูกอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุประมาณ 1 ขวบขึ้นไป โดยเฉพาะเรื่องการกินและการนอนให้เป็นเวลาเพื่อให้เด็กชิน ควรกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ในครอบครัวที่มีเหตุผลและชัดเจน ถ้าปฏิบัติตามจะได้ผลตอบแทนอย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีผลตามมาอย่างไร พ่อแม่ควรติดตามให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ และไม่เลี้ยงดูอย่างตามใจเด็ก

หากทำตาม 3 ข้อแรกประมาณ 1-2 เดือนแล้วแต่ลูกยังไม่ดีขึ้น แสดงว่าเด็กหรือพ่อแม่อาจมีปัญหาทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม เช่น เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น หรือพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า ก็ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม

---------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจากเว็บไซต์
parentsone.com

ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์ 

ปรึกษาปัญหา เด็กโอดีดี
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์

โทร : 091-8871691 
Add Line : @HealthyBrain (มี@ด้วย)

เพิ่มเพื่อน

Visitors: 412,451