ลูกเราเป็น เด็กแอลดี หรือป่าวนะ ?
การที่ลูกอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น คือ ความปรารถนาพื้นฐานสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยเรียนทุกคน แต่คุณแม่คุณพ่อจะทำอย่างไร หากผลการเรียนในสมุดพกตอนปลายเทอมแจ้งว่า ลูกไม่ผ่านในหลายวิชา
อะ...อ๊ะ อย่าเชียวนะ อย่าเพิ่งไปตีโพยตีพายเอากับลูกว่า ลูกไม่ฉลาด ขี้เกียจ หรือ ไม่ใส่ใจในการเรียน เพราะนั่นอาจไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง พานจะให้ลูกหมดกำลังใจไปเปล่าๆ ลองหันมาสังเกตกระบวนการเรียนรู้ของลูกกันดีกว่า เริ่มจากถามไถ่ถึงปัญหาการเรียนของเขา ถ้าลูกยังอธิบายไม่ได้ คราวนี้ลองไปดูที่สมุดการบ้าน หากพบว่า
> ลูกเขียนผิดแบบเดิมบ่อยๆ
> มีรอยลบสกปรกเลอะเทอะ
> เขียนสลับระหว่าง พยัญชนะหัวเข้าและหัวออก เช่น ถ เขียนเป็น ภ
> เขียนกลับด้านแบบที่ต้องใช้กระจกเงาส่องอ่าน
> แก้โจทย์ปัญหาเลขต่างๆ ไม่ได้
สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเตือนว่า ลูกอาจมี " ความบกพร่องทางการเรียนรู้ " หรือ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า " LD (แอลดี)" ได้ค่ะ
สัญญาณบอกลูกเป็น LD
LD หรือ Learning Disabilities คือ ความบกพร่องด้านการเรียนรู้ ที่แสดงออกมาในรูปของปัญหาการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณ และ เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยที่เข้าข่ายมีปัญหาการเรียนรู้ จนส่งผลให้ อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ นี้แล้วกว่า 600,000 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของประชากรวัยเรียนทีเดียวค่ะ
เด็ก LD มีระดับสติปัญญา (IQ) ปกติ หรือ สูงกว่าปกติได้ในบางคน จึงไม่ใช่หรือไม่เหมือนกลุ่มเด็กบกพร่องทางสติปัญญา เด็ก LD จึงสามารถเรียนรู้ได้ หากได้รับการเลี้ยงดูโดยวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็ก LD นี้ จะไม่มีเป็นแบบสูตรสำเร็จ แต่ต้องอาศัยการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญเป็นรายบุคคลไป เพราะ บางครั้งพฤติกรรมหรืออาการบางอย่าง ก็ไปซ้อนทับกับลักษณะของเด็กที่ขาดความพร้อมด้านอื่นๆ ได้
อย่างกรณีการเขียนตัวหนังสือใหญ่เท่าหม้อแกง เขียนไม่ตรงบรรทัด บังคับลายมือตัวเองไม่ได้ อาจเป็นลักษณะที่ซ้อนกับเด็กที่กล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ดังนั้นเมื่อฝึกการใช้กล้ามเนื้อให้แข็งแรงแล้ว ถ้าไม่ใช่เด็ก LD ก็จะเขียนเป็นปกติ แต่ถ้าเป็น LD ก็จะยังคงเขียนแบบเดิม ทั้งที่กล้ามเนื้อมือแข็งแรงแล้ว
นอกจากนี้เด็ก LD บางคนอาจมี อาการสมาธิสั้น ร่วมด้วย ดังนั้นในขั้นต้น ต้องรู้ว่าเด็กเป็น LD จริงหรือไม่ เป็นแบบใด อยู่ในระดับไหนให้ได้ก่อน จึงจะนำไปสู่การค้นหาว่า เด็กคนนี้จะเรียนได้ดีในวิธีการแบบไหน ซึ่งควรเป็นการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ
LD มีหลายด้าน
โดยปกติกระบวนการทำงานของสมอง จะประกอบด้วย การรับสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัส ผ่านกระบวนการแปลความ แล้วจึงมีการตอบสนอง สำหรับเด็ก LD แล้ว ประสาทสัมผัสของเด็กกลุ่มนี้ไม่มีปัญหา คือ หูได้ยิน ตามองเห็น แต่จะมาบกพร่องตรงกระบวนการแปลความหมายในสมอง ทำให้แสดงผลตอบสนองออกมาอย่างผิดปกติ
หากจะสังเกตเด็กเล็กๆ ว่าเป็น LD หรือไม่ อาจดูว่า ลูกสับสนเรื่องทิศทางไหม แยกซ้าย-ขวา บน-ล่าง ได้หรือเปล่า เล่าเรื่องเรียงลำดับก่อนหลังได้ไหม ซึ่งถ้าทำไม่ได้ ก็มีโอกาสเข้าข่ายเป็น LD แต่ปัญหาใหญ่ของเด็ก LD จะเกิดขึ้นเมื่อลูกเข้าเรียน เพราะ เด็กจะมีปัญหาด้านการเรียนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจแบ่งความบกพร่องได้ 4 ด้านคือ
1. ด้านการเขียนและสะกดคำ
- เด็กจะลากเส้นวนๆ ซ้ำๆ ไม่แน่ใจว่าจะเขียนหัวเข้าหรือหัวออก เขียนพยัญชนะหรือตัวเลขสลับกัน เช่น น-ม, ภ-ถ, ต-ค, b-d, 6-9
- เรียงลำดับอักษรผิด เช่น สถิติ เป็น สติถิ
- เขียนเรียงลำดับ ก-ฮ ไม่ได้ แต่บอกให้เขียนทีละตัวได้
- เขียนพยัญชนะกลับกัน คล้ายมองกระจกเงา
- สะกดคำผิด เช่น บดบาด (บทบาท) แพด (แพทย์)
- เขียนไม่ตรงบรรทัด ขนาดตัวหนังสือเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ไม่มีช่องไฟ
- จับดินสอแน่นมาก ลบบ่อยๆ เขียนทับคำเดิมหลายๆ ครั้ง
2. ด้านการอ่าน
- อ่านช้า ลำบากในการอ่าน จะต้องสะกดคำก่อนจึงจะอ่านได้
- อ่านออกเสียงไม่ชัดเจน
- อ่านเดาจากอักษรตัวแรก เช่น บาท เป็นบทที่, เมื่อนั้น เป็น บัดนั้น
- อ่านข้าม อ่านเพิ่ม อ่านสลับคำ เช่น กรน อ่านเป็น นรก, กลม เป็น กมล
- ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้
- จับใจความสำคัญ หรือ เรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่องที่อ่านไม่ได้
3. ด้านการคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์
- ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข แยกแยะหลักหน่วย สิบ ร้อย พัน... ไม่ได้
- นับเลขไปข้างหน้าหรือนับย้อนหลังไม่ได้
- จำสูตรคูณไม่ได้
- เขียนตัวเลขสลับตำแหน่งกัน เช่น จาก 12 เป็น 21
- เอาตัวเลขน้อยลบออกจากตัวเลขมาก เช่น 35-8 = 27 เด็กจะเอา 5 ลบออก 8 เพราะมองว่า 5 เป็นเลขจำนวนน้อย แทนที่จะมองว่า 5 เป็นตัวแทนของ 15
- ยุ่งยากในตีความโจทย์ปัญหา แม้จะเป็นโจทย์ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนก็ตาม
- จะคำนวณเลขจากซ้ายไปขวา แทนที่จะเป็นขวาไปซ้าย
- ไม่เข้าใจเรื่องเวลา
4. ด้านปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์
- บ่ายเบี่ยง หลีกเลี่ยงการอ่าน การเขียน อ้างว่าทำสมุดการบ้านหาย
- ดื้อเงียบ ครูสั่งการบ้านก็ไม่ทำ จนมองว่าเด็กขี้เกียจ ไม่มีสมาธิในการเรียน
- เมื่อทำผิดมักกล่าวโทษว่าครูสอนไม่ดี เพื่อนชอบแกล้ง
- รู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่อยากไปโรงเรียน
- ความจำสั้น สอนวันนี้ พรุ่งนี้ลืมแล้ว
- รู้สึกด้อย ขาดความมั่นใจในตัวเอง จากการถูกมองว่าไม่เอาถ่าน
- มักตอบคำถามเป็นปฏิเสธ เช่น ไม่รู้ ไม่ทราบ ทำไม่ได้
- บางคนอาจทำตัวเป็นตัวตลกในห้องเรียนเพื่อกลบเกลื่อนความบกพร่องของตน
- อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หงุดหงิดง่าย ไม่อดทน
- หากถูกจ้ำจี้จ้ำไชมากๆ อาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว
- ไม่รู้สึกขำในคำพูดที่ตลก
- ไม่ลึกซึ้งในความหมายของคำ และความรู้สึกที่ผู้เขียนสื่อต่อผู้อ่าน
เด็ก LD ก็เก่งได้
แม้จะเรียกว่าเป็น เด็กที่บกพร่องด้านการเรียนรู้ แต่เด็ก LD ก็ยังเรียนรู้ได้ ไม่อย่างนั้นเด็กที่เคยถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพราะอ่านหนังสือไม่ออก อย่างไอน์สไตน์ คงไม่ประสบความสำเร็จเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องได้หรอก
การช่วยเหลือเด็ก LD ที่สำคัญก็ คือ การจัดการศึกษาพิเศษในรูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละราย เด็ก LD แต่ละคนจะมีสไตล์การเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน ต้องเลือกใช้การเรียนในช่องทางที่เขาสามารถรับได้ มีการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และ การประเมินผล ให้ตรงจุดประสงค์การเรียนรู้นั้น
ดังกรณีตัวอย่างที่ ศ.ศรียา นิยมธรรม ภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มศว.ให้ไว้ว่า...
“ในเด็ก LD ที่มีปัญหาเรื่องการอ่าน ถ้าให้มาทำข้อสอบแบบเป็นตัวเลือก 100 ข้อ เขาจะอ่านและกามั่วเลย เพราะเขาจะเห็นเป็นตัวหนังสือกระโดดอยู่ อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่อยากอ่าน ดังนั้นการแก้ไขจึงต้องมามองที่จุดประสงค์ว่า ข้อสอบนี้จะวัดความสามารถในการอ่านของเด็ก หรือ วัดความเข้าใจในเนื้อหา หากเป็นอย่างหลัง ก็อาจเปลี่ยนวิธีการสอบ มาเป็นอ่านให้ฟังแทนที่จะให้เด็กอ่านเอง เด็กก็จะตอบได้ ซึ่งในเด็กบางคนการเรียนรู้จากการฟังและใช้ภาพประกอบ จะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาที่เรียนได้”
นี่เองคือโจทย์สำคัญสำหรับครูและผู้ปกครอง ที่จะต้องช่วยเหลือการเรียนรู้ของลูก เพราะ เมื่อเด็กได้รับการดูแลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เด็กจะเริ่มสนใจอ่านเขียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามเรารู้แล้วว่า เด็ก LD มีความบกพร่องเฉพาะเรื่องเรียน ดังนั้นในทักษะด้านอื่นๆ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ เด็กจึงยังสามารถพัฒนาได้ หากมีการส่งเสริมที่ถูกทาง แม้ความบกพร่องทางการเรียนรู้ จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถเรียนรู้เพื่อเอาชนะข้อบกพร่องที่มีอยู่นี้ได้
ลูกจะก้าวข้ามกำแพงแห่งอุปสรรคนี้ไปได้หรือไม่ นอกจากขึ้นอยู่กับตัวเด็กเองและการได้รับการดูแลที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆแล้ว ในส่วนความรัก ความเข้าใจ และ กำลังใจของครอบครัว ก็เป็นสิ่งสำคัญ...แล้วจะพบว่าปฏิหาริย์นั้นมีจริง
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจากเว็บไซต์
jaowmodem.thaimultiply.com
===============================================
ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์ สารอาหารบำรุงสมอง
√ ช่วยเพิ่มสมาธิ เสริมสร้างความจำ ให้ดีขึ้น
√ ช่วยให้มีความสามารถในการเรียนรู้ ดีขึ้น
√ ช่วยจัดลำดับระบบระเบียบความคิด ดีขึ้น
√ ช่วยลดความเครียด มีอารมณ์ดี
√ ทำให้มีทักษะการอ่านเขียน การคิดคำนวณ ดีขึ้นได้
**เสริมอาหารสมองให้ลูกน้อย ทำให้มี
IQ และ EQ ดีขึ้นได้ ด้วย "อเลอไทด์"