เตื่อนภัยลูกดื้อ เสี่ยงเป็นโรค ODD
โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน (ODD = Oppositional Defiant Disorder) ซึ่งเด็กจะมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม มีนิสัยดื้อต่อต้านไม่ฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่าย ในระดับที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ว่า ขณะนี้การเข้าถึงบริการของเด็กที่เป็นโรคจิตเวช โดยเฉพาะโรคสมาธิสั้น และ โรคออทิสติกดีขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับพบโรคจิตเวชอื่นๆ โดยเฉพาะ โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน (ODD= Oppositional Defiant Disorder) ซึ่งเด็กจะมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม มีนิสัยดื้อต่อต้านไม่ฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่ายในระดับที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ครั้งล่าสุดในปี 2559 พบเด็กป่วยเป็นโรคดื้อต่อต้านร้อยละ 2 หรือ มีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 เด็กหญิงร้อยละ 1.7 โรคนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อน และ สภาพแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี ใช้ความรุนแรง การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่ ที่น่าเป็นห่วงพบว่า ยังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิดๆ คิดว่า เด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา
พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากผลวิเคราะห์เด็กที่เข้ารับบริการ พบว่า เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม เช่น โรคดื้อ เข้ารับการรักษามีประมาณร้อยละ 2 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มีเฉลี่ยวันละ 30-40 คน สำหรับพฤติกรรมดื้อตามวัยนั้น พบได้ในเด็กปกติช่วงอายุ 2-3 ปี เมื่ออายุมากขึ้นอาการดื้อจะหายไป แต่ในโรคดื้อนี้ จะมีการแสดงออกรุนแรงมากขึ้น อารมณ์ไม่ดี ต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ลักษณะอาการเด่นของเด็กที่เป็นโรคดื้อมี 8 อาการ ได้แก่
1. แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา
2. เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ
3. ท้าทายและฝ่าฝืนคำสั่งและกฎเกณฑ์บ่อยๆ
4. ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ
5. โทษหรือโยนความผิดให้คนอื่นบ่อยๆ
6. หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย
7. โกรธและไม่พอใจบ่อยๆ
8. เจ้าคิดเจ้าแค้นอาฆาตพยาบาท
หากผู้ปกครองพบว่าลูกมีอาการที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อบำบัดพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ได้แก่ การทำจิตบำบัด ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัว หรือที่เรียกว่า ครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว ฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง รวมทั้งร่วมมือกับครูที่โรงเรียนในการดูแล และ ช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย