เด็กประถมไทย สมาธิสั้น นับล้าน

สธ.เผยเด็กไทยวัยประถมป่วย“สมาธิสั้น1ล้านคน”ครึ่งหนึ่งมีปัญหาสุขภาพจิต พัฒนาแอพฯดูแลร่วมไตรภาคี

   น.ต.นพ. บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กที่พบมากที่สุดในวัยเด็ก และ น่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้คือ "โรคสมาธิสั้น ( Attention Deficit Hyperactivity Disorder :ADHD)" หรือที่เรียกว่าโรคไฮเปอร์  โรคนี้เป็นโรคทางจิตเวช เกิดจากภาวะบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง  ทำให้เด็กเกิดความผิดปกติที่สำคัญ 3 ด้าน คือ       > มีช่วงสมาธิสั้นกว่าปกติ ( Inattention)  
     > มีความสนใจต่ำ ซุกซนอยู่ไม่นิ่งหรือซนผิดปกติ ( hyperactivity)  
     > พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ( Impulsivity) 
อาการมักเกิดก่อนอายุ 7 ขวบ และต่อเนื่องติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่ต้น จะกลายเป็นปัญหาระยะยาวส่งผลต่อพัฒนาการในด้านลบ ไปจนถึงวัยรุ่น และ วัยผู้ใหญ่ เช่น ต่อต้านสังคม  เกเร   ใช้ความรุนแรงต่อคนอื่น  ติดยาเสพติด  และ เกิดภาวะซึมเศร้า  

    อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2560 พบเด็กวัยประถมศึกษาอายุ  6-12 ปี  มีอัตราป่วยโรคสมาธิสั้น ร้อยละ 8.1 หรือ มีประมาณ 1 ล้านคน  

      > ผู้ชาย พบร้อยละ 12 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ที่พบร้อยละ 10 และ ป่วยมากกว่าผู้หญิงในอัตรา3ต่อ1 
      > พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคใต้ ร้อยละ 11.7  
      > รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 9.4 
      > ภาคกลาง ร้อยละ  6.7 
      > กรุงเทพฯ ร้อยละ 6.5 
      > ภาคเหนือ ร้อยละ 5  
โดยเด็กสมาธิสั้น ร้อยละ 50 หรือ ราว 5 แสนคน มีปัญหาสุขภาพจิต เนื่องจากการปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ไม่ดี เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง กรมสุขภาพจิตได้เร่งพัฒนาระบบบริการ โดยให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม. ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเรื่องการรักษาโรคจิตเวชในเด็กและวัยรุ่น  เร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สร้างนวตกรรมบริการ  เพื่อให้เด็กที่ป่วยโรคสมาธิสั้นทุกพื้นที่ได้รับการดูแลทั่วถึงและต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพที่สุด

    ด้าน พญ.มธุรดา  สุวรรณโพธิ์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  กทม. กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการดูแลรักษาเด็กที่ป่วยโรคสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งครอบครัว โรงเรียนและโรงพยาบาล  ขณะนี้สถาบันฯได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เขตสุขภาพที่ 4 โรงพยาบาลสวนปรุง  โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์  สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่   มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือและแทปเล็ต ใช้ช่วยติดตามการดูแลเด็กวัยเรียน ที่ป่วยโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการ ร่วมระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง 3 ฝ่ายคือ ครู  ผู้ปกครอง และ บุคลากรทางการแพทย์  

    แอพพลิเคชั่นนี้ มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ 
    1. ความรู้เรื่องโรค 
    2. การประเมินลักษณะอาการเด็กด้วยแบบมาตรฐานของกรมสุขภาพจิต 
    3 .การติดตามผลความก้าวหน้าของเด็กสมาธิสั้นทั้งการเรียนและพฤติกรรม 
    4. การประเมินความเครียด ครู พ่อแม่  
แอพฯนี้จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถจัดการแบบแผนชีวิตของเด็ก โดยเฉพาะชีวิตประจำวันได้ถูกต้อง สามารถเรียกใช้งานได้อย่างสะดวกทุกพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง  ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของครู ผู้ปกครอง และ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คาดว่าจะทดลองใช้ในเดือนเมษายน 2561นี้  และ จะปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพ ก่อนขยายผลใช้ทั่วประเทศต่อไปโดยเร็ว

    สำหรับการดูแลเด็กวัยเรียน โรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 
    1. การคัดกรองอาการของโรคสมาธิสั้น โดยผู้ปกครอง และ ครู 
    2. การปรับพฤติกรรมโดยผู้ปกครองที่บ้าน 
    3. การปรับพฤติกรรม และ การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมโดยครูที่โรงเรียน 
    4. การประเมินอาการและการรักษา โดยผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล 
    5. การส่งต่อติดตาม โดยครูเป็นผู้จัดการ ( case manager) จะทำให้เด็กได้รับการดูแลต่อเนื่อง  และ การปรับพฤติกรรมของเด็ก โดยลดพฤติกรรมเสีย เพิ่มพฤติกรรมดี อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  เริ่มทำทีละน้อย ทำมากกว่าพูด ชมเชยเมื่อทำดี  เด็กส่วนหนึ่งประมาณร้อยละ 30 เมื่อผ่านวัยรุ่นอาการจะหายเอง ไม่ต้องกินยา ที่เหลือยังมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง แต่จะควบคุมตัวเองดีขึ้น เรียนหรือทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

    ทั้งสาเหตุของการเกิดโรคนี้ เชื่อว่า เกิดจากพันธุกรรม ร้อยละ 80-85 และ ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้คือ การได้รับสารตะกั่ว สารฆ่าแมลง  รวมถึง มารดาที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ติดสารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์  ซึ่งสามารถทำลายการเจริญเติบโตสมองของเด็กได้ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย รักษาและปรับพฤติกรรมอย่างถูกต้องตั้งแต่มีอาการแรกเริ่ม  
    เด็กสมาธิสั้น มีโอกาสจะไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียน หรือ เกิดการบาดเจ็บจากเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าเด็กปกติ มีโอกาสกลายเป็นเด็กเกเร ต่อต้านสังคมหลังอายุ 16 ปี สูงกว่าเด็กปกติ  3-4 เท่าตัว และ เด็กกลุ่มนี้หากถูกทำโทษบ่อยๆ หรือ ถูกลงโทษอย่างรุนแรง จะมีอาการซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง เมื่อโตขึ้นมีแนวโน้มใช้พฤติกรรมก้าวร้าวคนอื่น เช่น ทุบตี ทำร้ายคู่สมรส ใช้ความรุนแรงในครอบครัว การดูแลรักษา จึงเป็นการป้องกันปัญหาสังคมนี้ด้วย      

==============================================
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
komchadluek.net
สนับสนุนโดย
ศูนย์สมองดี HealthyBrain
อเลอไทด์ อาหารเสริมบำรุงสมอง

ปรึกษาปัญหาเด็กสมาธิสั้น
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์

โทร : 091-8871691 
Add Line : @healthybrain


เพิ่มเพื่อน

Visitors: 412,451