เด็กไทยป่วยโรค “สมาธิสั้น” กว่า 3 แสนคน สูงกว่าทั่วโลก

ผยพบเด็กไทยป่วยเป็น “โรคสมาธิสั้น” หรือ “เด็กไฮเปอร์แอคทีฟ” กว่า แสนคน ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กป่วยเพียง 5% ชี้หากไม่รักษาจะทำให้เด็กร้อยละ 70 หรือ 2 ใน 3 มีอาการจนเป็นผู้ใหญ่  1 ใน 4 มีบุคลิกก้าวร้าว

  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุ เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมกรมสุขภาพจิต พบว่าอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อปัญหาทั้งด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของประชาชนมากขึ้น ในกลุ่มเด็กปฐมวัย พบว่ามีเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัยมากถึงร้อยละ 30 ระดับความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ย 98.59 จุด ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่อยู่ที่ 100 จุด ในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 49 มีไอคิวต่ำกว่าปกติ และมีเด็กที่มีปัญหาสติปัญญาบกพร่อง คือมีระดับไอคิวต่ำกว่า 70 จุด มากถึงร้อยละ 6.5 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล 3 เท่าตัว โดยกำหนดให้มีไม่เกินร้อยละ 2

  นอกจากนั้นยังมีโรคในเด็กที่น่าเป็นห่วงอีกโรคหนึ่ง และจะมีผลต่ออนาคตของเด็กไทย คือโรคสมาธิสั้นหรือโรคเอดีเอชดี (adhd : attention deficit hyperactivity disorder) หรือที่เรียกกันติดปากว่า โรคไฮเปอร์แอคทีฟ (hyperactive) พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้คิดว่าเด็กป่วย มักพบในเด็กชาย เด็กจะไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ มีอาการหุนหันพลันแล่น อยู่ไม่สุข ควบคุมตัวเองไม่ได้ 

  องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญมาก เนื่องจากหากไม่รักษาตั้งแต่เด็ก จะมีผลต่อการเรียน ต่ออนาคตของเด็กเอง และอาจถูกทำร้ายจากผู้ปกครองหรือญาติได้ จากความไม่เข้าใจ ผลสำรวจในกลุ่มเด็กไทยที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นร้อยละ 6.5 คาดว่าจะมีเด็กไทยป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นประมาณ 310,000 ราย ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กเป็นร้อยละ 5

  จากรายงานของสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่าเด็กที่ป่วยหากไม่รักษา จะทำให้ 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 70 ของเด็กที่ป่วยมีอาการจนถึงผู้ใหญ่ จะมีผลเสียทั้งต่อเด็กและสังคม โดยพบว่า 1 ใน 4 ทำผิดกฎจราจร มีบุคลิกก้าวร้าว อีก 1 ใน 10 มีปัญหาใช้สารเสพติด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย มีร้อยละ 5 ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ จึงได้มอบนโยบายให้กรมสุขภาพจิต เร่งเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคและวิธีการสังเกตพฤติกรรมผิดปกติของลูกหลาน เพื่อที่จะพาไปรักษาตั้งแต่ยังเด็ก และรักษาหายขาดได้ โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลศูนย์ทุกจังหวัด สามารถให้การรักษาได้

  นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้นเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ขวบ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง แต่มักจะพบในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก ไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มนี้จะมีระดับไอคิวปกติ อาการที่เป็นสัญญาณโรค จะปรากฏเห็นชัดเจน 3 อาการ ได้แก่ ขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และซุกซน

  นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน หรือเรียนได้แต่ไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ปกครอง และครูที่ดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้องเพื่อช่วยในการจัดการ กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกายเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธหรือแสดงพฤติกรรมต่อต้าน และก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่าคือ การให้คำชมหรือรางวัล เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง และเหมาะสม หรือควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ โดยแนะนำให้งดกิจกรรมที่เด็กชอบหรือตัดสิทธิอื่นๆ

  สำหรับวิธีสังเกตว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ สามารถดูได้จากการมีสมาธิ  เด็กจะไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น มักไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย วอกแวกง่าย ขี้ลืมบ่อยๆ ทำงานผิดพลาดบ่อย ทำของใช้หรือของส่วนตัวหายบ่อย ในเรื่องของอาการซุกซนสามารถดูได้โดย เด็กจะมีพฤติกรรมยุกยิก อยู่ไม่สุข นั่งไม่ติดที่หรือชอบนั่งโยกเก้าอี้ ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ พูดมาก พูดไม่หยุด ตื่นตัวตลอดเวลาหรือดูตื่นเต้นง่าย ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ

======================================

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก 
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ด้วยความหวังดีจาก
ศูนย์สมองดี HealthyBrain


Visitors: 393,704