อย่าไว้ใจ ลูกซน อยู่ไม่นิ่ง...เสี่ยงสมาธิสั้น !?
ความซนกับเด็กๆ มักเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร ดังคำกล่าวที่ว่า เด็กซนคือเด็กฉลาด แต่ถ้าลูกรักของคุณพ่อคุณแม่ มีอาการอยู่ไม่สุข อยู่ไม่นิ่ง สมาธิไม่จดจ่อกับสิ่งที่ทำ หรือ ซนมากผิดปกติ จนกลายเป็นปัญหาคับอกคับใจให้คุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งกลุ้มว่า ลูกฉันเป็นลิงกลับชาติมาเกิดหรืออย่างไร ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงขอมาไขปัญหาน่าปวดหัวของคนเป็นพ่อแม่ให้ฟังกัน
โรคซนสมาธิสั้น Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) เป็นปัญหาที่พบบ่อยในช่วงวัยเด็ก (ร้อยละ 5-15 ในเด็กวัยเรียน) ต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่น และ วัยผู้ใหญ่ โดยเด็กจะแสดงอาการ คือ ไม่สามารถจดจ่อ หรือ มีสมาธิในสิ่งที่ทำ (ไม่รวมถึงการเล่นเกม หรือดูทีวี) มีความยากลำบากในการควบคุมพฤติกรรม หรือ หุนหันพลันแล่น และ ซนอยู่ไม่สุข
อาการอาจรุนแรงมาก จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทั้ง พฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และ การเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กบางคนอาจซน อยู่ไม่นิ่ง และ ไม่สามารถควบคุมตนเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือ บางคนอาจมีอาการสมาธิสั้นเป็นปัญหาหลัก ซึ่งพบได้บ่อยทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย
อาการของเด็กแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ ขาดสมาธิ ซนอยู่ไม่สุข หุนหันพลันแล่น
> เด็กจะมีพฤติกรรมไม่มีความอดทน
> พูดโพล่งด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม
> ชอบขัดจังหวะ หรือ พูดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่
> แสดงความรู้สึกโดยไม่เก็บอาการ หรือ ทำสิ่งต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา
> รอคอยไม่เป็น ชอบแซงคิว
ผลการวิจัยในปัจจุบันพบว่า โรคสมาธิสั้น เกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมอง โดยมี
√ กรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30-40% ของเด็กสมาธิสั้น จะมีคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่ง มีปัญหาอย่างเดียวกัน
√ ปัจจัยจากการเลี้ยงดู หรือ สิ่งแวดล้อม เป็นเพียงปัจจัยเสริม ที่ทำให้อาการ หรือ ความผิดปกติ ดีขึ้นหรือ แย่ลง
ทั้งนี้ แพทย์สามารถวินิจฉัย โรคซนสมาธิสั้น โดยอาศัยประวัติที่ละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท และ การสังเกตพฤติกรรมของเด็ก เป็นหลัก ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือด หรือ เอกซเรย์สมอง ที่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น ในบางกรณี แพทย์จำเป็นต้องอาศัยการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจสายตา การตรวจการได้ยิน การตรวจคลื่นสมอง การตรวจเชาวน์ปัญญา และ ความสามารถทางการเรียน เพื่อช่วยวินิจฉัยแยก โรคลมชัก ความบกพร่องทางสายตา การได้ยิน หรือ ภาวะการเรียนบกพร่อง ออกจาก โรคซนสมาธิสั้น
นอกจากนี้ โรคออทิสติก โรคจิตเภท ภาวะพัฒนาการล่าช้า และ โรคทางจิตเวชอื่นๆในเด็ก เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า สามารถทำให้เด็กแสดงอาการ หรือพฤติกรรมเหมือนกับเด็กที่เป็น โรคสมาธิสั้น
การรักษา โรคสมาธิสั้น หรือ ผู้ที่มีภาวะสมาธิบกพร่องนั้น ปัจจุบันนั้น วิธีที่ยอมรับกันทั่วไปว่าได้ผลดี คือ
≥ การให้ยาเพิ่มสมาธิ ร่วมกับ การฝึกเทคนิคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและผู้ดูแล
≥ ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ปกครอง ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เพื่อที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านั้นให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
การรักษาเด็กซนสมาธิสั้น ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การผสมผสานการรักษาหลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน ทั้งการรักษาด้วยยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และ การช่วยเหลือทางด้านจิตใจ สำหรับเด็กและครอบครัว ตลอดจนการช่วยเหลือทางด้านการเรียน
"เมื่อผ่านวัยรุ่น ประมาณ 30% ของเด็กซนสมาธิสั้น มีโอกาสหายจากอาการซนได้ แต่จะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่ง และ สามารถควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนหากสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะเป็นผลเสีย ต่อการศึกษา ต่อการงาน และ การเข้าสังคมกับผู้อื่น เด็กในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง"
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
√ ช่วยลดความเครียด ปรับอารมณ์ ให้ดีขึ้น
√ ช่วยจัดลำดับความคิด ให้มีระบบระเบียบดีขึ้น
√ ทำให้มีผลการเรียนดีขึ้น