เคล็ดลับแก้ไขและป้องกันปัญหาสมาธิสั้น
**แนวโน้มของเด็กสมาธิสั้นในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น ทำให้คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักมีความกังวลใจเรื่องนี้มาก
> ลูกซน ไม่อยู่นิ่ง รอคอยไม่เป็น ทำกิจกรรมอะไรได้ไม่นาน ทั้งหมดนี้เข้าข่ายเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือเปล่า?
> แล้วเด็กที่ซุกซน มีพลังงานเหลือเฟือ แอคทีฟอยู่ตลอดเวลา หรือ เรียกว่า “ไฮเปอร์” จัดอยู่ในประเภทเด็กสมาธิสั้นด้วยหรือเปล่า?
หลากหลายคำถามที่เป็นคำคุ้นหู แต่ยังอาจสับสนและไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ จาก ศูนย์การแพทย์นวบุตรสตรีและเด็ก ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสมาธิสั้นในเด็กว่า โรคซนอยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorders หรือ ADHD) คือ ภาวะที่เด็กมีพฤติกรรมเหล่านี้
1. ไฮเปอร์ คือ ซุกซน ไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา ยุกยิก พลังเยอะ ซน พูดมาก
2. ขาดสมาธิ จดจ่ออะไรนานๆไม่ได้ เบื่อง่าย วอกแวก เหม่อบ่อย ทำงานไม่เสร็จ ขี้ลืม
3. หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ อดทนรอคอยไม่ได้ พูดแทรก พูดโพล่ง ใจร้อน
เด็กบางคนมีอาการครบทั้งหมด เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องสมาธิเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ซน ซึ่งบางคนมีพฤติกรรมเหล่านี้มากกว่าเด็กวัยเดียวกัน และ ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็กในช่วงอายุนั้นๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตของเด็ก เช่น เรียนไม่ได้ ไม่มีเพื่อน หรือ ถูกลงโทษบ่อย
สาเหตุของโรคสมาธิสั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจมีหลายปัจจัย เช่น
√ พันธุกรรม ถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือมีญาติที่ตอนเด็กๆ ซน อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นได้เช่นกัน
√ ความผิดปกติในการทำงานของสมอง เช่น สมองได้รับผลกระทบจากการขาดออกซิเจน มีเลือดออก ติดเชื้อ โรคลมชัก หรือ มีความผิดปกติของสารเคมีในสมอง
นอกจากนี้ ยังมีโรคต่างๆ ที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมคล้ายเด็กสมาธิสั้น เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ ภูมิแพ้ ขาดอาหาร เด็กที่ได้รับยากันชักบางชนิด เป็นต้น ส่วนอาหารรสหวาน น้ำตาล ช็อกโกแลต หรือ ของรับประทานที่มีสารแต่งสีนั้น หากพ่อแม่สังเกตว่า ลูกกินแล้วซนมากขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนั้นเสีย
ทั้งนี้ ควรควบคุมและหลีกเลี่ยงการใช้สื่อผ่านจอทุกประเภทเป็นเวลานานๆ ทั้งโทรทัศน์ ซีดี วีดีโอเกมส์ คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต ไอแพด ไอโฟน ฯลฯ เพราะ การปล่อยให้เด็กอยู่หน้าจอนานๆ จะทำให้เด็กหมกมุ่น และ คุ้นชินกับอะไรที่เร็วๆ เพราะภาพบนจอเปลี่ยนทุกวินาที ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ใช้สื่อผ่านจอทุกประเภท เพราะจะทำให้เด็กสนใจสิ่งอื่นน้อยลง สบตาน้อยลง ส่งผลให้พัฒนาการด้านการพูด การใช้ภาษา และ สังคมของเด็กล่าช้าไป
วิธีการรักษา
⇒ เด็กซน อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้นนั้น หากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู หรือ คุณครูไม่เข้าใจ เด็กๆเหล่านั้นมักถูกต่อว่า ว่าเป็นเด็กซน เด็กดื้อ เด็กเกเร ถูกลงโทษรุนแรง เด็กจะคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า ทำให้เด็กอาจจะไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากไปโรงเรียน โดดเรียน เสี่ยงกับการเกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น ติดเกมส์ สูบบุหรี่ กินเหล้า ติดยา เข้าแก๊ง เริ่มลักขโมย หรือ มีปัญหาอื่นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นอาชญากรรมได้เลย จึงควรช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ โดยให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ และ ใช้การปรับพฤติกรรมทั้งที่บ้าน และ ที่โรงเรียนร่วมกับการใช้ยารักษา (การใช้ยา รพ.ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์)
โดยทางบ้าน ฝ่ายผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง ลูกไม่ได้จงใจแกล้ง เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นแบบนี้ เด็กทุกคนอยากเป็นคนดีและเป็นที่รักของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องอดทนพยายามเข้าใจลูกมากขึ้น จับจังหวะชมให้มาก ให้แรงเสริมทางบวกเมื่อเขาได้พยายามแล้ว หากลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมให้ลงโทษ โดยการตัดสิทธิ์หรืองดกิจกรรมบางอย่าง ไม่ควรพูดจาบั่นทอนความรู้สึกหรือลงโทษด้วยวิธีรุนแรง
"นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กิจกรรมต่างๆ ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ และงานบ้าน เพื่อช่วยเสริมให้สมาธิดีขึ้น
* กีฬาช่วยให้เขาได้ปล่อยพลังออกไป ได้ใช้สมาธิในการมอง การกะระยะ ฝึกทักษะการใช้มือ แขน ขา สายตา
* ดนตรีช่วยฝึกสมาธิการฟัง
* ศิลปะและงานบ้าน ช่วยฝึกจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และการสังเกต"
หากพลังลดลงจนถึงระดับที่เด็กเริ่มสงบลงแล้ว จึงให้เริ่มทำการบ้าน อ่านหนังสือ โดยมีพ่อแม่คอยกำกับดูแล และให้แรงจูงใจเป็นช่วงๆ (ไม่ต้องรอให้ทำเสร็จแล้วค่อยชม) เช่น ชมที่เขาตั้งใจเขียน มีความอดทน เป็นต้น
สำหรับที่โรงเรียน ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ควรต้องไปคุยกับครูประจำชั้นทุกชั้นปี เพื่อให้ครูเข้าใจถึงปัญหา และจัดที่นั่งเพื่อช่วยลดสิ่งเร้า ควรนั่งหน้าห้อง นั่งใกล้กระดาน ใกล้เพื่อนที่เรียบร้อย และหลีกเลี่ยงการนั่งหลังห้อง ใกล้ประตู ใกล้หน้าต่าง ใกล้เพื่อนที่ซนพูดมาก เพราะจะรบกวนสมาธิของเด็ก อาจแต่งตั้งเด็กให้เป็นผู้ช่วยครู เป็นรองหัวหน้าห้อง พอเริ่มยุกยิกก็ให้ช่วยลบกระดาน เก็บสมุด ตั้งแถวกินนม ฯลฯ เพื่อให้เขาได้ใช้พลังและเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ ครูอาจประกบตัวต่อตัว จะช่วยให้สามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น
ส่วนในเด็กเล็กๆ ที่ค่อนข้างซนกว่าเด็กวัยเดียวกัน ควรปรับพฤติกรรมแต่เนิ่นๆ เช่น ให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานออกไปก่อน เช่น วิ่งเล่น ออกกำลังกาย แล้วจึงค่อยทำกิจกรรมที่ใช้สมาธิ เช่น ระบายสี วาดรูป ร้องเพลง เป็นต้น
นอกจากนี้คุณหมอยังได้กล่าวถึงสถิติของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นเพิ่มเติมอีกด้วยว่า
1 ใน 3 ของเด็กที่เป็นโรคซนอยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น เมื่อโตขึ้น มีวุฒิภาวะดีขึ้น เด็กก็จะค่อยๆ หายได้เอง
1 ใน 3 ดีขึ้น เมื่อมีการปรับพฤติกรรมที่ถูกต้องและได้รับการรักษาด้วยยาในการดูแลของแพทย์
1 ใน 3 อาจมีปัญหาการเรียน สอบตก เรียนไม่จบ ซึมเศร้า ติดยา ต่อต้านสังคม หรือ กลายเป็นอาชญากร
ดังนั้น โรคสมาธิสั้นในเด็ก สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ด้วยการดูแล เอาใจใส่ เข้าใจในพฤติกรรม และให้กำลังใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้กลับเข้ามาอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติ
ASTV ผู้จัดการออนไลน์
==================================
♥ เตรียมความพร้อมต่อ การเรียนรู้ ให้ลูกน้อย
ให้มีสมาธิ สนใจการเรียนได้มากขึ้น ด้วย "อเลอไทด์"
√ ช่วยให้ปรับพฤติกรรมลูกได้ง่ายขึ้น