รักษาโรคสมาธิสั้น พ่อ-แม่นั้นสำคัญที่สุด

                     รู้หรือไม่?  30-50% ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้และสามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องใช้ยาเมื่อผ่านช่วงวัยรุ่น การทำความเข้าใจลูก ปรับวิธีการเลี้ยงดู และใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมที่ถูกต้อง คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยรักษาลูกได้

 

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ชาญวิทย์ พลนภดล หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชา
จิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ให้คำแนะนำในการเลี้ยงดูลูกสมาธิสั้น ไว้ดังนี้

- ปรับทัศนคติต่อเด็กสมาธิสั้นให้เป็นบวก คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า โรคสมาธิสั้นเป็นความผิดปกติของการทำงานของสมอง พฤติกรรมที่ก่อปัญหาของลูกกไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะก่อกวนให้เกิดปัญหา แต่เกิดขึ้นเนื่องจากเขาไม่สามารถควบคุมตนเองได้

- เทคนิคปรับพฤติกรรมที่ใช้ต้องไม่ทำลายความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองของลูกให้ลดลง

- จัดทำตารางเวลาให้ชัดเจนว่า กิจกรรมในแต่ละวันที่ลูกต้องทำมีอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน

 

- จัดหาสถานที่ที่ลูกสามารถใช้ทำงาน ทำการบ้าน อ่านหนังสือ โดยไม่มีใครรบกวน และไม่มีสิ่งที่จะมาทำให้เขาเสียสมาธิ เช่น ทีวี เกม โทรศัพท์มือถือ หรือของเล่นอยู่ใกล้ๆ

- ถ้าลูกวอกแวกง่ายมากหรือหมดสมาธิง่าย คุณพ่อคุณแม่อาจจำเป็นที่ต้องนั่งประกบอยู่ด้วย ระหว่างทำงาน หรือทำการบ้าน เพื่อให้งานเสร็จเรียบร้อย



- คุณพ่อคุณแม่ และทุกคนในบ้าน ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ อย่าตวาด ตำหนิเด็ก หรือลงโทษทางกายที่รุนแรงเมื่อลูกทำผิด โดยควรมีการตั้งกฎเกณฑ์ไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อลูกทำผิดจะมีการลงโทษอย่างไรบ้าง หากยิ่งใช้ความรุนแรงกับเด็กสมาธิสั้น ยิ่งทำให้เขามีโอกาสเติบโตมาเป็นเด็กก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

- การลงโทษควรใช้วิธีจำกัดสิทธิต่างๆ เช่น งดดูทีวี งดเที่ยวนอกบ้าน งดขี่จักรยาน หักค่าขนม เป็นต้น

- คุณพ่อคุณแม่ควรให้คำชม รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เวลาที่ลูกทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เขาทำพฤติกรรมที่ดีต่อไป

- ทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับลูก เช่น ในเรื่องความมีระเบียบ รู้จักรอคอย ความสุภาพ รู้จักกาละเทศะ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่างๆ

- เวลาสั่งให้ลูกทำงานอะไร ควรให้ลูกพูดทวนคำสั่งที่คุณพ่อคุณแม่เพิ่งสั่งไปทันที เพื่อให้มั่นใจว่าลูกฟังคำสั่งและเข้าใจว่า พ่อแม่ต้องการให้เขาทำอะไร

 

- พยายามมองหาข้อดี จุดเด่นของลูก และพูดย้ำให้ลูกเห็นข้อดีของตัวเอง เพื่อให้เด็กเกิดกำลังใจทีจะประพฤติตัวดี และเกิดความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง

- พยายามสั่งทีละคำสั่ง ทีละขั้นตอน ใช้คำสั่งที่สั้น กระชับ และตรงไปตรงมา

- ไม่ควรบ่นจู้จี้จุกจิก ถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีในอดีตของลูก

- หากลูกทำผิด พ่อแม่ควรเด็ดขาด เอาจริง คำไหนคำนั้น ลงโทษลูกตามที่ได้ตกลงกันไว้โดยไม่ใจอ่อน มีความคงเส้นคงวาในการปรับพฤติกรรม

- พยายามสอนให้ลูกคิดก่อนทำ เช่น ให้ลูก “นับ 1 ถึง 5” ก่อนที่จะทำอะไรลงไป “หยุด..คิดก่อนทำนะจ๊ะ” พูดให้ลูกรู้ตัว รู้จักคิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำของเขา สอนให้เขารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก่อนที่จะทำอะไรลงไป

- หากลูกมีพฤติกรรมดื้อ ไม่เชื่อฟัง หลีกเลี่ยงการบังคับหรือออกคำสั่งตรงๆ กับเด็ก แต่ใช้วิธีบอกกับเด็กว่า เขามีทางเลือกอะไรบ้าง โดยทางเลือกทั้งสองทางนั้น เป็นทางเลือกที่คุณพ่อคุณแม่กำหนดขึ้น เช่น หากต้องการให้ลูกเริ่มต้นทำการบ้าน แทนที่จะสั่งให้ลูกทำการบ้านตรงๆ อาจพูดว่า “เอาละได้เวลาทำการบ้านแล้ว หนูจะทำภาษาไทยก่อน หรือว่าจะทำเลขก่อนดีจ๊ะ”

- กำหนดช่วงเวลาในแต่ละวัน ที่จะให้ลูกฝึกทำอะไรเงียบๆ ที่ตัวเองชอบอย่าง “จดจ่อและมีสมาธิ” โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องหาห้อง หรือมุมใดมุมหนึ่งในบ้านที่สงบ ไม่มีสิ่งเร้ามากนัก ให้ลูกได้เข้าไปทำงานหรือกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิคนเดียวเงียบๆ โดยในวันแรกๆ อาจเริ่มที่ 15 นาทีก่อน แล้วค่อยเพิ่มเวลาให้นานขึ้นเรื่อยๆ พร้อมให้คำชม และรางวัลเมื่อลูกทำได้สำเร็จ

                                                                 ..................................................

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก 
TheAsianParent Thailand
 
ด้วยความหวังดีจาก ศูนย์สมองดี Healthy Brain
สนับสนุนโดย อเลอไทด์ อาหารเสริมบำรุงสมอง เสริมสร้างสมาธิ

ปรึกษาปัญหาสมาธิสั้น
หรือ สั่งซื้อ อเลอไทด์

โทร : 091-8871691 
Add Line : @healthybrain


เพิ่มเพื่อน

 
Visitors: 393,559